การถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นสิ่งท้าทายอย่างหนึ่งของช่างภาพ เพราะไม่เหมือนการถ่ายภาพแนวอื่นที่ตัวแบบมีเวลาให้จัดองค์ประกอบภาพและเตรียมตัวลั่นชัตเตอร์ได้นานหน่อย ในขณะที่สัตว์ป่ามักไม่อยู่นิ่ง เข้าใกล้ยาก และบางชนิดก็มีอันตราย แต่ถ้าถ่ายได้ โอกาสจะส่งภาพเข้าชิงรางวัลก็ใกล้แค่เอื้อม สำหรับผู้ที่อยากถ่ายภาพแนวนี้ มีเคล็ดลับในการถ่ายและวิธีเตรียมความพร้อมก่อนถ่ายมาฝากกัน
1. รู้จักตัวแบบ
การเรียนรู้นิสัยของสัตว์ที่อยากถ่ายภาพ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้ภาพถ่ายที่น่าอัศจรรย์ ทำให้รู้ข้อมูลและนำมาประกอบการตัดสินใจได้หลายเรื่อง เช่น เวลาไหนเหมาะสมที่จะไปถ่ายภาพ สถานที่ถ่ายภาพ และจะถ่ายภาพสัตว์ที่ชอบซ่อนตัวอย่างไร นอกจากนี้การสำรวจพฤติกรรมของสัตว์ป่าชนิดนั้นดูก่อน ทำให้เราสามารถคาดเดาพฤติกรรมของมัน ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการถ่ายภาพได้
2. กล้อง
การตั้งค่ากล้องและรู้ขีดจำกัดของอุปกรณ์เสริมที่ใช้อาจเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม แต่ถ้าเราไม่คุ้นเคยกับการเรื่องดังต่อไปนี้ อาจทำให้พลาดภาพถ่ายดี ๆ ไปได้
- ใช้สปีดชัตเตอร์ช้า ๆ เท่าไร โดยภาพถ่ายยังคมชัดอยู่
- ค่ากันสั่นของกล้องหรือเลนส์
- รู้ว่าจะเปลี่ยนจุดโฟกัสและโหมดการโฟกัสได้อย่างไร
- สามารถเปิด ISO สูงสุดได้แค่ไหน ถึงจะได้ภาพที่น่าพอใจ
การถ่ายภาพสัตว์ป่าบางครั้งจำเป็นต้องเปลี่ยนการตั้งค่ารูรับแสงและการโฟกัส โดยไม่ละสายตาจากช่องมองภาพ เนื่องจากอาจทำให้พลาดโมเม้นท์สำคัญของสัตว์ป่าได้
3. เลนส์
อุปกรณ์เสริมสำหรับการถ่ายภาพสัตว์ป่าคือเลนส์ telephoto โดยเลนส์ 400mm เป็นหนึ่งในเลนส์ที่ยอดเยี่ยม บางครั้งทางยาวโฟกัสของเลนส์อาจสั้นเกินไปสำหรับถ่ายภาพตัวแบบที่มีขนาดเล็ก เช่น นก ก็ควรเปลี่ยนไปใช้เลนส์ที่ยาวขึ้น เช่น 600mm และเนื่องจากเป็นการเดินป่า เลนส์ที่มีน้ำหนักมาก ๆ อาจทำให้เดินไม่สะดวกนัก จึงควรคำนึงถึงน้ำหนักของเลนส์ด้วย
4. แสง
สภาพแสงที่ไม่ดีคือปัจจัยหนึ่งที่ทำลายภาพถ่ายของคุณได้ ถ้าถ่ายเวลาเที่ยงวันจะทำให้ภาพดูไม่มีชีวิตชีวา และแสงแข็งเกินไป โชคดีที่โดยธรรมชาติสัตว์ป่าส่วนใหญ่จะตื่นตัวในช่วงเช้าและช่วงบ่าย ซึ่งเป็นเวลาที่ดีสำหรับการถ่ายภาพ ยิ่งถ่ายตอน Golden hour หรือช่วงเช้าที่ดวงอาทิตย์เพิ่งขึ้นและช่วงเย็นก่อนดวงอาทิตย์ตก ยิ่งมีโอกาสที่จะได้ตัวแบบย้อนแสงสวย ๆ (อ่านบทความเพิ่มเติม : เคล็ดลับการถ่ายภาพย้อนแสง) และเพิ่มแสงสีทองเรืองรองในภาพ
5. ถ่ายภาพ
เมื่อเห็นสัตว์ป่าอย่าเพิ่งตื่นเต้นและรีบยกกล้องขึ้นมาถ่าย ควรจัดองค์ประกอบภาพก่อน เช่น เลือกว่าจะซูมตัวแบบจนเต็มเฟรมภาพ หรือจัดองค์ประกอบให้กว้างขึ้นโดยมีสิ่งแวดล้อมประกอบตัวแบบ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ที่ชมภาพ และก่อนกดชัตเตอร์ควรแน่ใจว่าเส้นขอบฟ้าเป็นเส้นตรง
6. Perspective
การถ่ายภาพให้โดดเด่น ลองถ่ายภาพที่ระดับสายตาของสัตว์ป่า หรือถ่ายต่ำกว่านี้ก็ได้ เพื่อให้ได้มุมมองที่เป็นเอกลักษณ์และภาพถ่ายที่ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
7. ถ่ายจากรถยนต์
เมื่อเดินทางไปชมสัตว์ป่าที่อุทยานหรือซาฟารี รถยนต์เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถถ่ายภาพสัตว์แบบ
ระยะประชิดได้ ขึ้นอยู่กับการอนุญาตของอุทยานหรือซาฟารีนั้น ๆ สามารถใช้ตัวยึดกล้องกับกระจกรถควบคู่กับหัวขาตั้งกล้อง เพื่อความสะดวกและมั่นคงเวลาถ่ายภาพ
8. อย่ามองข้ามสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ
แน่นอนว่าทุกคนอยากได้ภาพถ่ายที่สวยงามกันทั้งนั้น แต่อย่าโฟกัสแค่ภาพที่ทำให้ได้รางวัล คุณจะพลาดโอกาสพบเห็นสิ่งดี ๆ ที่อยู่รอบตัว เพราะสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น แมลง ก็ให้ภาพถ่ายอัน
ยอดเยี่ยมได้เช่นกัน
9. ปลอดภัยไว้ก่อน
ผู้ถ่ายภาพต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองและสัตว์ป่า เพราะธรรมชาติของสัตว์ป่ามักมีอันตรายต่อมนุษย์ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ป่าเมื่อคุณทำให้พวกมันหงุดหงิด และสัตว์บางชนิดก็มีนิสัยตื่นกลัวง่าย เช่น นก ถ้าพวกมันรู้สึกไม่ปลอดภัย จะทิ้งรังทันที ดังนั้นให้แน่ใจว่าได้รักษาระยะห่าง และไม่ทำให้พวกมันตื่นกลัว
การถ่ายภาพทุกแนวต้องอาศัยความอดทน เพราะทุกอย่างใช้เวลา อย่าท้อถอยถ้าภาพถ่ายในครั้งแรกออกมาไม่ดีนัก ควรฝึกถ่ายไปเรื่อย ๆ จนได้ภาพที่ดีสมความตั้งใจ…