Thailand English
 
Thailand English

เคล็ดลับการถ่าย Rainy Night Portrait

 

 

ในขณะที่คนส่วนหนึ่งกลัวการถ่ายภาพกลางสายฝน พอเห็นฝนตกจะรีบวิ่งเข้าไปหลบ เพราะมัวแต่คำนึงถึงความปลอดภัยของกล้องและอุปกรณ์ จนอดได้ภาพถ่ายสวย ๆ มาครอบครอง แต่ Ilko Allexandroff กลับไม่คิดเช่นนั้น เขาสามารถถ่ายภาพ Portrait กลางสายฝนยามค่ำคืนให้ออกมางดงามได้อย่างน่าทึ่ง จากคลิปใน youtube ไปดูกันดีกว่าว่าเขาใช้อุปกรณ์ในการถ่ายภาพและมีวิธีถ่ายภาพกลางฝนอย่างไร

 

อุปกรณ์

สิ่งแรกที่ต้องมีคือกล้องที่มีซีลกันน้ำซึ่งทนทานต่อสภาพอากาศที่เปียกชื้นได้ดี โดยส่วนตัว Allexandroff ถ่ายด้วย Canon 5D Mark II นับพันๆ ครั้งในเวลาที่ฝนหรือหิมะตก ส่วนเลนส์ที่ใช้ถ่ายก็ควรจะมีซีลกันน้ำด้วยเช่นกัน เช่น เลนส์ Sigma 135 mm f1.8 ในการถ่าย Portrait สามารถถ่ายในระยะ 85 mm หรือ 135 mm หรือจะถ่ายด้วยเลนส์ Wide 12 mm ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการภาพแบบไหน และควรทำใจไว้เลยว่าหากต้องการถ่าย Portrait กลางสายฝน ทุกอย่างจะเปียกไปหมด ทั้งกล้อง ตัวแบบ เลนส์หรืออุปกรณ์ รวมถึงชุดของตัวแบบแพงๆ

แน่นอนว่าในการถ่าย Portrait กลางสายฝนตอนกลางคืน จำเป็นต้องใช้แสงสว่างช่วย Allexandroff ใช้แฟลช Nissin MG8000 ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมและน่าพอใจ เขาจึงชอบแฟลชตัวนี้มาก ภาพถ่ายส่วนใหญ่ของเขาจะใช้แสงที่เข้ามาด้านหลัง (Backlighting) คือ วางแฟลชตัวหนึ่งไว้ด้านหลังและส่องไปที่ตัวแบบตรง ๆ แฟลชอีกตัววางด้านหน้า จะเป็นร่มแฟลช soft box หรือ direct flash ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการภาพแบบไหน แต่เขาชอบใช้แฟลช soft box มากกว่าร่ม เพราะถ้าใช้ร่มแสงจะแพร่กระจายไปทั่วและตกลงพื้นด้วย บางครั้งภาพที่ต้องการก็ไม่อยากให้มีแสงไฟที่พื้น นอกจากนี้ softbox ยังช่วยให้แสงไฟดูนวลๆ เป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเขาชอบใช้ softbox ขนาด 60x60

 

แสง

ในการถ่ายภาพ Allexandroff จะใช้แสงอยู่ 6 แบบ ซึ่งทำให้ได้ภาพถ่ายที่แตกต่างกัน และนี่คือภาพตัวอย่างของแสงทั้ง 6 แบบที่ว่า

 

 

1. ภาพ Silhouettes

 

 

การถ่ายแบบนี้ใช้แฟลชอันเดียวไว้ด้านหลังตัวแบบเท่านั้น แสงจะส่องสว่างจนทำให้เห็นเม็ดฝนรอบๆ ตัวแบบ และจะทำให้ตัวแบบกลายเป็น silhouettes ซึ่งการถ่ายแนวนี้ไม่ต้องการเน้นที่หน้าของตัวแบบ

 

 

 

 

2 . แสงกับวัตถุกระทบ

 

 

หากต้องการให้เห็นใบหน้าของตัวแบบด้วย ให้ใช้แสงจากแฟลชอันเดียวนี้แหละควบคู่ไปกับวัตถุตกกระทบอย่างอื่น เช่นกำแพง จะช่วยให้เกิดไฟสะท้อนระหว่างกำแพงกับตัวแบบ ทำให้เห็นหน้าของตัวแบบซึ่งต่างจากการถ่ายภาพด้วยแสงจากข้อแรก

 

 

 

3. แสงกับแหล่งกำเนิดแสงอย่างอื่น

 



การถ่ายแบบนี้ต้องใช้แสงแฟลชอันหนึ่ง และให้หาแหล่งกำเนิดแสงอย่างอื่นที่สว่าง ๆ เช่นกระจกร้านค้า ซึ่งแสงไฟจะช่วยส่องสว่างให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ของตัวแบบ ในขณะทีแฟลชด้านหลังจะช่วยให้เห็นสายฝนที่โปรยปรายลงมา

 

 

 

4. การแต่งภาพ

 

 

ก่อนลงมือถ่ายควรตั้งค่าไฟล์ภาพเป็น Raw ก่อนเพื่อที่จะได้นำภาพไปตกแต่งต่อ เมื่อถ่ายเรียบร้อยแล้วต้องให้แน่ใจว่าตัวแบบนั้นมืดพอที่จะเพิ่มแสงสว่างเข้าไปภายหลังด้วยโปรแกรม Photoshop จะเห็นได้จากภาพตัวอย่างที่มีเพียงแฟลชอันเดียวด้านหลังตัวแบบ

 

 

 

 


5. แสงด้านหน้าและด้านหลัง

 

 

คราวนี้ต้องใช้แฟลชสองตัวในการส่องไฟจากด้านหน้าและด้านหลังตัวแบบ ดังนั้นเลยต้องใช้แฟลชตัวหนึ่งส่องด้านหลังตัวแบบ และแฟลชเสริมอีกตัวส่องเข้ามาด้านหน้าทางด้านซ้ายหรือด้านขวาก็ได้ เพื่อให้เห็นรายละเอียดของใบหน้าและร่างกายของตัวแบบ

 

 

 

 

6. แสงจากด้านข้าง

 

 

ใช้แฟลชสองตัวเหมือนกัน แต่ตอนนี้จะให้ย้ายตำแหน่งของแฟลช โดยจะวางแฟลชไว้ด้านหลังตัวแบบเยื้องไปทางซ้ายกับขวา ไม่วางแฟลชให้ส่องตรงๆ ไปที่ตัวแบบเหมือนข้ออื่นแล้ว

 

 

 

 

การตั้งค่ากล้องในการถ่าย Portrait กลางสายฝน

 

 

 

Aperture ค่ารูรับแสง

Allexandroff ชอบถ่ายภาพด้วยรูรับแสงกว้าง ถ้าเขาใช้เลนส์ Canon 135mm f2 จะใช้รูรับแสง f2 เลย หรือถ้าเขาใช้ Sigma 135mm f1.8 เขาก็จะใช้ f1.8

 

Speed Shutter สปีดชัตเตอร์

การตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ก็ขึ้นอยู่กับว่ากำลังถ่ายภาพแบบไหนและอยากได้พื้นหลังแบบใด ถ้าอยากให้พื้นหลังมืดสนิท ไม่มีเม็ดฝน ก็จะใช้สปีดชัตเตอร์ 1/200 วินาทีถ้าอยากให้มีรายละเอียดรอบตัวแบบเพิ่มขึ้นก็ให้ลดสปีดชัตเตอร์ลง

 

ISO ค่าความไวแสง

ค่า ISO เพียง 100 หรือ 200 นั้นทำให้ภาพสว่างไม่พอ เพราะมีเพียงแค่แสงแฟลชอย่างเดียว ในการถ่าย Portrait ช่วงเวลาที่ฝนตกและตอนกลางคืน ให้ตั้งค่า ISO ที่ 800 หรือ 1000

 

 

 

ช่วงเวลาที่ควรถ่ายภาพ

ถ้าถ่ายในเวลากลางวันแฟลชคงไม่เพียงพอที่จะทำให้จับภาพเม็ดฝนที่โปรยปรายลงมา ดังนั้นให้เริ่มถ่ายช่วงดวงอาทิตย์ตก หรือช่วงที่ท้องฟ้ากำลังเริ่มมืดดีกว่า

 

White Balance โทนสีของภาพ

การตั้งค่า White balance ขึ้นอยู่กับแสงในตอนนั้น ถ้ามีแค่แฟลชไม่มีฟิลเตอร์ช่วย ก็จะตั้งค่าโทนสีของภาพที่ 5600-5700 kelvin แต่ถ้ามีฟิลเตอร์คู่กับแฟลชก็ต้องเปลี่ยนค่าให้เข้ากับฟิลเตอร์

 

 

 

Filter ฟิลเตอร์

ฟิลเตอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญในการถ่าย Portrait กลางสายฝน จะช่วยเปลี่ยนสีของเม็ดฝนในภาพให้ได้อารมณ์ไปอีกแบบหนึ่ง ยกตัวอย่าง ถ้าถ่ายโดยไม่ใช้ฟิลเตอร์จะเห็นเป็นแค่เม็ดฝนสีขาว หากต้องการเพิ่มอารมณ์ภาพให้ดูดราม่าหน่อย ๆ ใช้ฟิลเตอร์สีส้มภาพจะเป็นโทนสีน้ำเงิน โดยจะใส่ฟิลเตอร์ไว้ที่แฟลชข้างหน้าหรือแฟลชข้างหลังก็ได้ สีของฟิลเตอร์นั้นสำคัญมากเพราะมันจะเปลี่ยนสีของ
โลเคชั่นแบบเดิมๆ ให้แตกต่างออกไป ทำให้ภาพถ่ายมีความหลากหลายและสนุกสนานมากขึ้น

 

 

 

Set up

ในการเซ็ทแสงไฟที่เข้ามาด้านหลังตัวแบบ ต้องให้ตัวแบบบังแฟลชที่ใช้อยู่ เพราะถ้าไม่บังให้ดีก็จะเห็นเป็นตัวแฟลชทำให้ภาพดูไม่สวย และควรระวังแสงด้านหลังที่ทำให้พื้นสว่างกว่าตัวแบบ เพราะในการถ่ายภาพแนวนี้ตัวแบบต้องสว่างที่สุดในภาพ เพราะคนชมภาพจะมองไปยังจุดที่สว่างสุดใน
ภาพก่อนเสมอ

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ ระยะห่างในการตั้งแฟลชไม่ว่าจะเป็น 4 เมตร 5 เมตร 30 เมตร หรือ 50 เมตร ซึ่งระยะจะเป็นตัวแปรที่ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศโดยรอบในภาพได้ ถ้าวางแฟลชไว้ใกล้ ๆ สัก 5 เมตร จะเห็นเม็ดฝนที่กระจายอยู่รอบตัวแบบชัดเจน ทำให้ภาพออกมาสวยงาม แต่ถ้าวางแฟลชไว้ไกล ๆ สัก 30 หรือ 40 เมตร ถึงจะอยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกัน ก็จะมองไม่เห็นเม็ดฝนรอบๆ ตัวแบบ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าต้องการฉากหลังในภาพแบบไหน นอกจากนี้แสงแฟลร์จากแฟลชด้านหลังยังช่วยเพิ่มความสวยงามเข้าไปในภาพได้

ส่วนเรื่องการดูแลและป้องกันกล้องหรือแฟลชเวลาที่ฝนตกควรใช้พลาสติกโปร่งใสและเป็นสีขาวเท่านั้น เพราะหากเป็นพลาสติกสีอื่นเวลาถ่ายออกมาก็จะติดเป็นสี ๆ ได้

 


ที่มา petapixel.com

 

Back to top