Thailand English
 
Thailand English

Field Test Review : Nikon D500 การกลับมาของราชาแห่งกล้อง DX Format

 

เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 8 ปี ที่ Nikon ไม่ได้สานต่อกล้องระดับมืออาชีพบนพื้นฐานของเซ็นเซอร์แบบ DX Format ออกสู่ตลาดเลยนับตั้งแต่ D300s ออกมาในปี 2009 ทำให้หลายคนตัดใจไปแล้วว่าเราคงไม่ได้เห็นกล้องระดับเรือธงของตระกูล DX Format อีกต่อไป จนเมื่อปลายปี 2016 Nikon ได้ทำเซอร์ไพส์ครั้งใหญ่ให้กับแฟนๆด้วยการเปิดตัว Nikon D500 กล้องระดับเรือธงในตระกูล DX Format ที่อยู่ในระดับสูงกว่ากล้อง D7200 และมีเทคโนโลยีหลายๆอย่างที่ยกมากจากรุ่นพี่อย่าง D5 ที่เปิดตัวในเวลาใกล้ๆ กัน


การกลับมาของกล้องที่ถือว่าเป็น “ราชาแห่งกล้อง DX Format” ในครั้งนี้ถือว่ามาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ดีที่สุดและประสิทธิภาพที่ทาง Nikon จัดมาให้เป็นเต็มๆ ด้วยเซ็นเซอร์แบบ APS-C ที่มีความละเอียด 20.9 ล้านพิกเซลกับประสิทธิภาพในการจัดการสัญญาณรบกวน (Noise) ได้อย่างดีเยี่ยม มาพร้อมกับหน่วยประมวลผลภาพแบบใหม่ EXPEED 5 ที่มีความเร็วในการทำงานสูงมาก รองรับความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง 10 ภาพ/วินาที และรองรับการบันทึกวิดีโอ 4K UHD (3840×2160) 30p นอกจากนั้นยังออกแบบอัลกอริธึมใหม่ให้สามารถควบคุมสัญญาณรบกวนได้ดีขึ้น ให้ภาพที่มีรายละเอียดสูงให้การไล่เฉดสีที่นุ่มนวลเป็นธรรมชาติและให้สีผิวที่สดใสสมจริง นอกจากนี้ Nikon ยังได้ใส่ระบบโฟกัส MultiCam 20K เช่นเดียวกับ D5 ส่งผลให้ D500 เป็นกล้องที่มีระบบออโตโฟกัสในระดับเยี่ยมยอดด้วยการใช้จุดโฟกัส 153 จุด โดยเป็นจุดโฟกัสแบบกากบาท (Cross Type) 99 จุด แต่ที่โดดเด่นกว่า D5 คือ ด้วยใช้เซ็นเซอร์รับภาพขนาด APS-C ทำให้จุดโฟกัส 153 จุดครอบคลุมพื้นที่โฟกัสกว้างกว่ามาก โดยจุดโฟกัสแบบกากบาทครอบคลุมถึงสุดขอบด้านซ้ายและด้านขวาของภาพ ส่วนด้านบนและด้านล่างก็ครอบคลุมประมาณ 60% ของพื้นที่ ทำให้ D500 มีประสิทธิภาพในการโฟกัสติดตามวัตถุเหนือชั้นกว่ากล้อง DSLR แทบทุกรุ่น ไม่ว่าวัตถุจะอยู่ส่วนไหนของภาพ สภาพแสงน้อยมากหรือซับเจกต์จะมีคอนทราสต์ตํ่า D500 ก็ยังโฟกัสติดตามวัตถุได้อย่างแม่นยำโดยจะทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ระบบวัดแสง RGB 180K เช่นเดียวกับ D5 ในการตรวจจับสีของวัตถุ เพิ่มความแม่นยำในการโฟกัสติดตาม นอกจากนี้ D500 มีการใช้เซ็นเซอร์ RGB 180,000 พิกเซลในการทำงานของระบบวัดแสง ซึ่งสามารถใช้ในการตรวจสอบสภาพฉาก คอนทราสต์ และเพิ่มประสิทธิภาพแก่ระบบตรวจจับใบหน้าได้ดีขึ้น แม้ซับเจกต์จะเคลื่อนไหวและขนาดใบหน้าดูเล็กเมื่อเทียบกับเฟรมภาพ D500 จะใช้ข้อมูลจากระบบตรวจจับใบหน้าในการทำงานของระบบวัดแสงแมททริก การทำงานของระบบ i-TTL Balanced Fill Flash ระบบ Auto area AF 3D Tracking และระบบ Active D-lighting รวมทั้งฟังก์ชั่น Flicker Reduction ที่กล้องจะตรวจจับความสว่างของแสงฟลูเรสเซนต์ และจะปรับเวลาการบันทึกให้อยู่ในช่วงที่แสงสว่างที่สุดเพื่อลดปัญหาเรื่องภาพอันเดอร์

 

 

การจับถือ และส่วนต่างๆ ภายนอก

ครั้งแรกที่ได้สัมผัส Nikon D500 ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังถือกล้องระดับโปรอย่าง D810 ด้วยบอดี้ที่ใหญ่และมีรูปร่างที่ถอดแบบมาจากกล้อง Fx ให้ความรู้สึกที่มั่นคงและกระชับมือ ตัวกริปจับด้านหน้ามีขนาใหญ่และมีร่องลึกทำให้จับได้ถนัดมือมาก ช่องมองภาพเป็นทรงกลมสามารถปิดช่องมองภาพได้โดยการขยับก้านปิดช่องมองภาพ มีการออกแบบปุ่มต่างๆให้สามารถปรับฟังก์ชั่นต่างๆของกล้องได้อย่างรวดเร็ว ที่ชอบอีกอย่างหนึ่งคือมี joystick สำหรับเลือกจุดโฟกัสด้านหลังกล้องถูกวางไว้ในตำแหน่งที่ใกล้กับนิ้วโป้งมือขวา ทำให้สามารถขยับจุดโฟกัสได้อย่างรวดเร็วทันใจ นอกจากนี้ joystick ที่ว่าสามารถตั้งค่าให้เป็นปุ่มฟังก์ชั่นได้ตามความต้องการอีกด้วย นอกจากนี้บังมีการย้ายตำแหน่งปุ่ม Mode ไว้บนแป้นหมุนฝั่งซ้ายมือแทน แล้วย้ายปุ่มปรับ ISO มาไว้แทน ทำให้สามารถใช้นิ้วชี้ขวากดปุ่มแล้วปรับ ISO ได้ด้วยมือข้างเดียว

 

 

ด้านขวาของตัวกล้องเป็น Slot ใส่ XQD และ SD Card อย่างละ 1 ช่อง Nikon ตั้งใจให้ D500 เป็นกล้องสำหรับการถ่ายภาพกีฬา ภาพที่ต้องอาศัยการตอบสนองที่รวดเร็วจึงได้ใส่ XQD มาให้ แต่อาจจะไม่สะดวกนักสำหรับคนที่ใช้ SD Card เพราะสามารถใส่ได้แค่ช่องเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ D500 มี wifi ในตัวและสามารถส่งไฟล์จากกล้องไปยังมือถือได้ผ่านแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า SnapBridge

 

 

จอ LCD ของ D500 มีความละเอียสูงถึง 2,359,000 จุดสามารถดึงออกมาเพื่อปรับก้ม/เงยได้ที่สำคัญมีระบบ touch screen มาให้ด้วย ด้านซ้ายของตัวกล้องมี port ต่างๆเช่น USB HDMI ช่องต่อไมค์ และหูฟัง ที่ดีมากๆคือแต่ละช่องสามารถเปิดแยกกันได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดทั้งแผงแถมตัวยางก็มีความแข็งแรงทนทานและปิดได้แน่นสนิทดี และสิ่งที่ชอบที่สุดก็คือ เมื่อใช้งานในที่มืด เมื่อเราเปิดไฟบนจอ LCD ปุ่มต่างๆก็จะมีไฟติดขึ้นมาด้วย (น่าจะทำทุกรุ่นนะ มีประโยชน์มากๆ)

 

 

 

การใช้งาน

ผมมีโอกาสได้เอา D500 ไปถ่ายรถแข่งในสนามการแข่งขันจริงๆ เพื่อทดสอบความสามารถของระบบการโฟกัสซึ่ง D500 สามารถทำได้ดีมากๆ ไม่ต่างจากกล้องตัวท๊อปอย่าง D5 เลย จุดโฟกัส 153 จุดนั้นครอบคลุมพื้นที่การโฟกัสได้เกือบทั่วทั้งภาพ ความเร็วในการโฟกัสก็เร็วและแม่นยำ ยิ่งใช้งานร่วมกับระบบโฟกัสแบบ Group หรือ 3d Tracking ก็ยิ่งทำให้การถ่ายภาพรถแข่งนั้นง่ายขึ้น

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 70-200 f2.8 FL ED VR f/11, 1/100s, iso-50

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 70-200 f2.8 FL ED VR f/2.8 1/4000s, iso-100

 

ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง 10 ภาพต่อวินาที ทำให้คุณมีโอกาสได้ภาพในจังหวะที่ดีๆได้ง่ายขึ้น
Nikon D500 : AF-S Nikkor 70-200 f2.8 FL ED VR f/10 1/125s, iso-50

 

Nikon D500 สามารถเลือกพื้นที่การถ่ายภาพแบบ Crop x1.3 ได้ทำให้สามารเพิ่มทางยาวโฟกัสของเลนส์ได้ไกลขึ้น
Nikon D500 : AF-S Nikkor 70-200 f2.8 FL ED VR f/2.8 1/400s, iso-50 200 x 1.3 = 260mm

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 70-200 f2.8 FL ED VR f/2.8 1250s, iso-50 200 x 1.3 = 260mm

 

White balance ของ D500 ถือว่าแม่นยำพอสมควรกับสภาพแสงที่สลับไปมาระหว่างแดดจ้าและเมฆครึ้ม การเก็บรายละเอียดของส่วนที่อยู่ในเงานั้นทำได้ดีเยี่ยม
Nikon D500 : AF-S Nikkor 70-200 f2.8 FL ED VR f/7.1 1/250s, iso-50

 

น้ำหนักจองตัวกล้องเมื่อใส่กับเลนส์ 70-200 แล้ว มีการกระจายน้ำหนักที่ดีทำให้เกิดความสมดุลเวลาแพนกล้อง ทำให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่าปกติได้
Nikon D500 : AF-S Nikkor 70-200 f2.8 FL ED VR f/10 1/80s, iso-50

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 70-200 f2.8 FL ED VR f/5.6 1/200s, iso-50

 

แม้ว่ามอเตอร์ไซค์จะวิ่งด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถแพนกล้องตามได้ทัน แต่ระบบโฟกัสของ D500 ยังสามารถโฟกัสได้เร็วมากและแม่นยำด้วย
Nikon D500 : AF-S Nikkor 70-200 f2.8 FL ED VR f/11 1/250s, iso-100

 

จุดโฟกัสบริเวณขอบภาพสามารถใช้งานได้จริงและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างอะไรกับจุดโฟกัสที่กึ่งกลางภาพ ทำให้เราสามารถใช้จุดโฟกัสได้ทุกจนอย่างไม่ต้องกังวล และสามารถจัดองค์ประกอบภาพล่วงหน้าได้อีกด้วย
Nikon D500 : AF-S Nikkor 70-200 f2.8 FL ED VR f/20 1/125s, iso-100


มาต่อกันการถ่ายภาพในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อยกันบ้าง เราจะมาทดสอบเรื่อง ISO กัน การทดสอบนี้ผู้ทดสอบเลือกที่จะไม่ใช้ตัวช่วยใดๆ ไม่ว่าจะเป็นแฟลช หรือ ไฟ LED แต่จะใช้แสงจากสภาพแวดล้อมเป็นแสงหลักในการถ่ายภาพ D500 สามารถจัดการ Noise ได้อย่างดีแม้ว่าจะใช้ ISO ที่สูงเกิน 3200 รายละเอียดในส่วนต่างๆของภาพอย่างคงอยู่ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นเส้นผม หรือส่วนที่อยู่ใต้เงา รวมไปถึงการไล่โทนสีด้วย เป็นกล้องที่สามารถถ่ายภาพในที่ที่มีแสงน้อยได้โดยไม่ต้องกังวล การโฟกัสในที่มืดทำได้ดีและน่าประทับใจมาก Nikon เคลมไว้ว่า D500 สามารถโฟกัสในที่มืดได้ที่ -3 EV และ -4 EV หากใช้จุดโฟกัสจุดกลาง ทำให้โฟกัสภาพได้อย่างแม่นยำ

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 50mm f1.4G f/1.4 1/250s, iso-3200

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 50mm f1.4G f/1.4 1/200s, iso-2000

 

แม้ว่าจะถ่ายภาพย้อนแสงและมีแสงจากหลอดไฟรบกวนในจุดที่ต้องการโฟกัส D500 ก็ยังสามารถโฟกัสภาพได้อย่างแม่นยำ
Nikon D500 : AF-S Nikkor 50mm f1.4G f/1.4 1/200s, iso-2000

 

คุณภาพไฟล์ของ D500 ถือว่าทำได้ดีเพราะสามารถเก็บรายละเอียดในส่วนที่มืดได้อย่างครบถ้วน เมื่อนำภาพมา Process ใน Lightroom ก็สามารถดึงรายละเอียดส่วนมือกลับมาได้
Nikon D500 : AF-S Nikkor 85mm f1.8G f/1.8 1/250s, iso-3200

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 85mm f1.8G f/1.8 1/160s, iso-1600

 


การใช้งานในสภาวะแสงปกติ เช่นการถ่ายกลางแจ้งทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกล้องได้อย่างเต็มที่ ผมพยายามทดสอบโดยการให้แบบไปอยู่ในที่ที่แสงมีความเปรียบต่างสูง (Contrast) เช่นมีแสงแดดแรงส่องมากระทบที่ใบหน้าแบบ ในขณะเดียวกันก็มีบริเวณที่เป็นเงาบนใบหน้า หรือบนส่วนต่างๆของร่ายกาย หรือสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ภาพตัวอย่างด้านล่างจะเห็นว่ามีแสงแดดส่องกระทบหน้าโดยตรงทำให้เกิดเงาที่บริเวณคอของแบบ เพียงแค่เปิด Active D-Lighting เป็น High ก็ช่วยลดความเปรียบต่างและเพิ่มรายละเอียดของภาพได้อย่างดี ส่วนอีกภาพหนึ่งนั้นถ่ายด้วยไฟล์ Raw 14bit แบบ Uncompress แล้วนำมา Process ใน Lightroom เพื่อลด highlight ลงและดึงรายละเอียดในส่วนที่เป็นเงากลับมา ทำให้เห็นว่าไฟล์ของ D500 เก็บรายละเอียดภาพได้ดีมากๆ ไม่ว่าจะเป็นโทนมืด โทนสว่าง

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 50mm f1.4G f/1.4 1/2000s, iso-100

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 50mm f1.4G f/1.4 1/400s, iso-200

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 50mm f1.4G f/1.4 1/1000s, iso-100

 

ภาพนี้มีสภาพแสงที่ซับซ้อนพอสมควรดูได้จากมาแสงแดดส่องบริเวณฉากหลัง ส่วนของน้ำตกนั้นอยู่ในเงา มีแดดส่องลงในน้ำสะท้อนแสงขึ้นไปที่ใบหน้าของแบบ แต่กล้องก็ยังวัดแสงได้อย่างแม่นยำและเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบมากๆ
Nikon D500 : AF-S Nikkor 50mm f1.4G f/1.4 1/500s, iso-100

 

การโฟกัสนั้นสามารถทำได้อย่างแม่นยำแใ้จะมีหยดน้ำมากมายบังหน้าแบบอยู่เพราะใช้ออโต้โฟกัสใบหน้า
Nikon D500 : AF-S Nikkor 50mm f1.4G f/1.8 1/6400s, iso-100

 

Nikon D500 : AF-S Nikkor 50mm f1.4G f/1.8 1/6400s, iso-100

Nikon D500 เป็นกล้องที่เพียบพร้อมไปด้วยความเร็วทั้งในเรื่องของการโฟกัสและการถ่ายภาพต่อเนื่อง คุณภาพไฟล์ที่ดีและเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วยและคมชัดสมจริง สามารถถ่ายภาพในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อยได้อย่างไม่ต้องกังวลใจเรื่อง Noise สามารถถ่าย VDO ความละเอียดสูงระดับ 4k ได้ มี wifi ในตัว ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ D500 มีและเป็นกล้องเปิดโลกใหม่ของการถ่ายภาพกีฬา ภาพแอคชั่นทุกรูปแบบ เรียกได้ว่าเป็นการกลับมาทวงบัลลังก์คืนที่สมศักดิ์ศรี “การกลับมาของราชาแห่งกล้อง DX Format” จริงๆ

ขอบคุณ บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จํากัด ที่ให้การสนับสนุนกล้องและเลนส์มาใช้ในการทดสอบ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Nikon D500 ได้ที่ www.nikon.co.th เว็ปไซด์ www.bigcamera.co.th ละแฟนเพจของ BIG Camera

Nikon D500 : Return of the king of DX

Back to top