Thailand English
 
Thailand English

 

 

5 เคล็ดลับสำหรับช่างภาพมือใหม่

 

ช่างภาพมือใหม่บางคนเวลาถ่ายภาพยังตั้งค่ากล้องแบบผิดๆ ซึ่งทำให้ภาพออกมาไม่คมชัด ดังนั้นเรามี 5 ข้อที่ควรระวัง ซึ่งจะช่วยให้มือใหม่ตั้งค่ากล้องได้ถูกวิธีและได้ภาพถ่ายที่สวยงามมากขึ้นอีกด้วย

  

 

 

1. ไม่ควรใช้ ISO ต่ำเกินไป

หลายคนยังมีความเชื่อกันผิดๆ ว่าควรเปิด ISO หรือค่าความไวแสงให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะกลัวการเกิด Noise จากกล้องดิจิตอลในยุคก่อน ๆ แต่สมัยนี้เทคโนโลยีในกล้องดิจิตอลได้พัฒนาไปไกลสามารถใช้ ISO ได้ถึง 800-6400 โดยที่คุณภาพของภาพถ่ายยังออกมาคมชัดน่ามองอยู่ ถ้าไม่มีขาตั้งกล้องก็ให้เปิด ISO สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้สามารถใช้ชัตเตอร์สูงๆ และใช้มือถือกล้องถ่ายภาพได้โดยที่ภาพไม่สั่นไหว ให้ภาพมีความชัดลึกและคมชัดขึ้น แต่เราก็สามารถใช้ ISO ต่ำๆ ได้เวลามีขาตั้งกล้อง

 

 

ยกตัวอย่างการตั้งค่า ISO เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด หากต้องการถ่ายภาพด้วย f2.8 ขณะมีแสงแดด ควรใช้ ISO 400 ตอนมีแสงสลัวใช้ ISO 800-1600 และช่วงโพล้เพล้หรือกลางคืนก็ต้องเปิด ISO สูงๆ หน่อยประมาณ 3200-6400

 

 

2. ใช้สปีดชัตเตอร์ช้าเกินไป

 

 

เพื่อป้องกันกล้องสั่นไหวจนทำให้ภาพเบลอควรใช้ความเร็วชัตเตอร์มากกว่าหรือเท่ากับทางยาวโฟกัสเลนส์ ยกตัวอย่างหากใช้เลนส์ 50mm ต้องใช้ชัตเตอร์ 1/50 วินาทีหรือมากกว่านั้น ถึงจะได้ภาพที่คมชัด และถ้าจะใช้เลนส์ซูม 300 mm ถ่ายจากระยะไกลให้ใช้ชัตเตอร์ 1/300 วินาที กับเพิ่ม ISO สูงๆด้วย
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาพเบลอคือต้องการจับภาพนิ่งวัตถุที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งต้องใช้ชัตเตอร์เร็วๆ อย่างการถ่ายผู้คนที่กำลังเดินหรือเคลื่อนไหวก็ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์อย่างน้อย 1/250 วินาที แต่ถ้าเป็นรถยนต์ที่กำลังแล่น แน่นอนว่าต้องใช้ชัตเตอร์ที่เร็วกว่านี้ แต่ก็มีข้อยกเว้นถ้าอยากจับภาพแสงไฟรถยนต์หรือสิ่่งที่เคลื่อนไหวให้ออกมาฟุ้งเป็นเส้นสายก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ชัตเตอร์ช้าแทน

 

 

3. ไม่ใช้การชดเชยแสงของกล้อง (+/-) หรือใช้โหมดวัดแสงที่ไม่ถูกต้อง

 

 

ในสภาพแสงที่ถ่ายภาพยากบางครั้งก็ต้องใช้โหมดการตั้งค่ารูรับแสงเอง (Aperture Priority) และโหมดตั้งค่าชัตเตอร์เอง (Shutter Priority) การชดเชยแสง EV หรือสัญลักษณ์ +/- บนตัวกล้องเป็นตัวช่วยที่ดีในสภาพแสงที่มืดหรือสว่างเกินไป เพราะในบางครั้งการวัดแสงของตัวกล้องเองจะไม่ฉลาดมาก กล้องจะวัดแสงออกมาเป็นสีกลาง ๆ จนทำให้สีเพี้ยน เลยต้องมาใช้การตั้งค่าชดเชยแสงเอง ซึ่งสัญลักษณ์ + จะทำให้ภาพสว่างขึ้น ส่วน - ก็ทำให้ภาพมืดลง

เวลาถ่ายหิมะขาวๆ หรือท้องฟ้าสว่างจ้า กล้องจะปรับความขาวหรือความสว่างจ้าในภาพให้เป็นสีเทา เพราะคิดว่าภาพนั้นสว่างไป ดังนั้นหิมะหรือท้องฟ้าก็จะออกมาเป็นสีเทาๆ เช่นเดียวกับการถ่ายภาพตอนกลางคืน กล้องจะวัดแสงให้ภาพเป็นสีเทา ๆ ทำให้ภาพสว่างจ้าเกินไป และปัญหาคล้ายๆ กันนี้จะเกิดขึ้นเมื่อถ่ายภาพในที่ที่การวัดแสงต่างกัน คือมีทั้งสว่างและมืดในภาพเดียว หรือเมื่อต้องการถ่ายย้อนแสง

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือบางคนใช้โหมดวัดแสงผิด กล้องมีโหมดวัดแสง 3 อย่าง คือโหมดวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ (Evaluative) กล้องจะวัดแสงทั้งภาพ โหมดวัดแสงเฉลี่ยหนักกลาง (Center-weighted) จะวัดแสงโดยดูจากพื้นที่กลางภาพเท่านั้น และ โหมดวัดแสงเฉพาะจุด (Spot Metering) วัดแสงเฉพาะจุดที่เราโฟกัส แต่การปรับตั้งค่าแต่ละอันก็ขึ้นอยู่กับภาพที่เราต้องการ

 

 

4. โฟกัสผิดจุด

 

 

บางคนอาจลืมการโฟกัสไปทำให้โฟกัสผิดจุดและภาพดูไม่สวย เราจึงต้องโฟกัสวัตถุที่ต้องการถ่ายในภาพ
ยกตัวอย่างเช่นการถ่ายด้วยเลนส์ 50mm f1.4 หรือ f1.8 บางคนมักเข้าใจผิดๆ ว่าภาพถ่ายจะออกมาดูดีในทุกสถานการณ์ แต่หากต้องการภาพที่มีความชัดตื้นมากหรือที่เรียกว่า Bokeh หน้าชัดหลังเบลอสำหรับการถ่ายภาพแนวนี้ การโฟกัสให้ถุกจุดคือสิ่งสำคัญ ถ้าจะถ่าย Portrait ก็ต้องโฟกัสไปที่ตาของตัวแบบ หากโฟกัสไปที่หูหรือจมูก ก็ทำให้ภาพหน้าชัดหลังเบลอออกมาไม่สวย

 

 

5. เปิด Image Stabilization เมื่อใช้ขาตั้งกล้อง

 

 

การเปิด Image Stabilization ระบบกันสั่นที่ตัวกล้องหรือเลนส์เวลาถือกล้อง มักช่วยให้กล้องนิ่งและได้ภาพคมชัด แต่ถ้าเปิดระบบนี้ขณะที่ใช้ขาตั้งกล้องอยู่จะทำให้ภาพเบลอแทน เพราะเวลาเปิดระบบ Image Stabilization ตัวกล้องหรือเลนส์จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการสั่นจากภายนอก ดังนั้นจึงควรปิดระบบนี้เมื่อใช้พร้อมกับขาตั้งกล้อง

 


ที่มา digital-photography-school.com

Back to top