Thailand English
 
Thailand English

 

 

7 เคล็ดลับการถ่ายภาพ Cityscape

 

ช่างภาพหลายคนต้องเคยถ่ายภาพ Cityscape กันบ้างแล้ว เพราะเป็นสถานที่ใกล้ตัวเรา ความยิ่งใหญ่อลังการของตึกสูงเสียดฟ้าที่เรียงตัวกันเป็นทิวแถว หรือตึกที่มีรูปลักษณ์แปลก ๆ ชวนให้ยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนความสวยงามของแสงไฟจากตึกสูง หรือจากแสงไฟรถยนต์ ทำให้เมืองดูมีพลังและมีสีสัน นี่แหละคือเสน่ห์ของตัวเมือง

หลายคนคงสงสัยว่าจะทำอย่างไรให้ภาพถ่าย Cityscape ออกมาดูดีขึ้น มีเคล็ดลับเพียง 7 ข้อ ที่ควรทำเพื่อช่วยปรับปรุงภาพถ่าย Cityscape ให้สวยงามยิ่งขึ้น

 

 

 

1. หาจุดถ่ายภาพดี ๆ

 

 

จุดถ่ายภาพ คือตัวช่วยที่ดีที่สุด ควรหาจุดที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมืองได้กว้างไกล ช่วยให้สามารถเก็บรายละเอียดของภาพถ่ายได้มากขึ้น อาจจะเป็นชั้นบนของตึกสูงหรือจุดชมวิว ถ้าหาสถานที่ได้ดีจะยิ่งได้เปรียบคนอื่นไปกว่าครึ่ง หากไปท่องเที่ยวตามเมืองที่ไม่คุ้นเคย ต้องเตรียมตัวทำการบ้านหนัก หน่อย

ถ้าหากเมืองนั้นมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านยิ่งดีเลย แค่หาจุดถ่ายภาพที่สามารถถ่ายให้ตึกหรือแสงไฟในเมืองยามค่ำคืนสะท้อนกับผิวน้ำ (อ่านบทความ : เคล็ดลับการถ่ายภาพ Reflection) ก็ทำให้ภาพชวนมองยิ่งขึ้น ส่วนโลเคชั่นยอดฮิตในการถ่าย Cityscape ก็คือสะพาน ไม่ว่าจะใช้เป็นจุดถ่ายภาพหรือถ่ายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในภาพก็สวยงามเช่นกัน

 

 

2. เล่นกับ Exposure

 

 

การเล่นกับสภาพแสงในทุกๆ ช่วงเวลา เป็นโอกาสดีที่จะได้ภาพถ่ายสวยๆ หากออกไปถ่ายภาพข้างนอกตอนกลางคืน ให้มองหาถนนที่รถยนต์วิ่งเยอะกว่าปกติและหามุมถ่ายภาพที่สามารถเก็บภาพได้กว้าง ซึ่งจะทำให้เราสามารถเล่นกับแสงไฟรถยนต์ที่กำลังวิ่งและจับภาพให้ออกมาเป็นเส้นสายได้ โดยใช้การเปิดชัตเตอร์ไว้นาน ๆ (อ่านบทความ : 8 ทริคง่าย ๆ สำหรับ Long Exposure Photography) และอย่าลืมพกขาตั้งกล้องไปด้วยเพราะต้องถ่ายโดยเปิดชัตเตอร์นาน (อ่านบทความ : 5 เคล็ดลับการใช้ขาตั้งกล้อง) แค่นี้ก็ได้ภาพสวยๆ ในตอนกลางคืนไปอวดเพื่อนแล้ว แต่ตอนกลางวันก็ออกไปถ่ายภาพได้เหมือนกัน ใช้ชัตเตอร์ช้าๆ เพื่อเก็บภาพก้อนเมฆที่กำลังเคลื่อนที่เป็นเมฆฟูๆ ประกอบฉากหลังก็ได้ หรือถ่ายภาพเงาสะท้อนตึกกับน้ำก็สวยไปอีกแบบ

 

 

3. ถ่ายภาพตอนกลางคืน

 

 

การถ่ายภาพ Cityscape ต่างจากการถ่ายภาพ Landscape ที่ออกไปถ่ายภาพตอนกลางคืนดีกว่า เพราะเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทั้งเมืองจะเต็มไปด้วยแสงไฟหลากสีสัน ซึ่งช่วยให้ภาพถ่ายของเราดูดีแน่นอน แต่ก็อย่าลืมออกไปเก็บภาพในช่วงเวลา Golden hour ช่วงเวลาเช้าตรู่กับตอนเย็น ก็จะได้ภาพถ่ายที่มีเงายาวๆ และแสงสีทองปรากฏให้เห็นในภาพ ซึ่งทำให้ได้ภาพที่ดูดีไปอีกแบบได้เหมือนกัน

 

 

4. ใช้น้ำเป็นตัวช่วย

 

 

อย่างที่บอกไปแล้วว่าถ้าเมืองที่มีทะเลสาบ แอ่งน้ำหรือแม่น้ำก็จะทำให้เก็บภาพแสงไฟในตัวเมืองที่สะท้อนกับผิวน้ำได้ แต่หากไปในเมืองที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ตัวช่วยที่ดีที่สุดคือ ฝน เพราะหลังจากที่ฝนหยุดตก จะทิ้งแอ่งน้ำไว้ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนภาพได้ และถ้าออกไปถ่ายภาพระหว่างเกิดพายุฝนก็จะมีโอกาสจับภาพสายฟ้า ทำให้ได้ภาพอันสวยงามน่าทึ่งเข้าไปอีก แต่ก็ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยกันด้วยละ

 

 

5. แสงของภาพ

 

 

สภาพแสงตอนกลางคืนช่วยให้เราได้ภาพถ่าย Cityscape ที่มีโอกาสได้สวยก็จริง แต่แสงในตอนกลางวันหากเรารู้มุมของแสง ซึ่งอาจตกกระทบกับยอดตึก หรือจะถ่ายภาพโดยให้ดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลังเพื่อช่วยส่องสว่างทุกอย่างในภาพให้ออกมาดูดีและสวยงามได้เช่นกัน

 

 

6. อย่าลืมแต่งภาพ

 

 

บางครั้งสีของภาพที่ได้อาจไม่ถูกใจเรานัก เลยต้องเอามาแต่งภาพต่อ ดังนั้นก่อนถ่ายภาพแต่ละครั้งอย่าลืมตั้งค่าไฟล์ภาพเป็นไฟล์ RAW หลายคนคงรู้ความแตกต่างระหว่างไฟล์ภาพ RAW กับ JPEG กันแล้ว (อ่านบทความ : Raw vs Jpeg ต่างกันยังไง) ซึ่งไฟล์ RAW คือไฟล์ภาพขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดต่างๆ อยู่ครบและสามารถนำไปแต่งภาพต่อได้โดยใช้โปรแกรม Lightroom ช่วยปรับแต่งให้ได้โทนสีตามที่ต้องการ แต่ JPEG เป็นไฟล์ภาพที่มีขนาดเล็กกว่า เพราะถูกบีบให้มีรายละเอียดน้อยกว่า เวลานำภาพ JPEG ไปแต่ง เก็บรายละเอียดได้น้อยกว่าและปรับแต่งได้ไม่เยอะเท่าไฟล์ RAW ดังนั้นถ้าใครพอใจกับภาพถ่ายของตัวเองและไม่คิดจะแต่งภาพต่อ หรือแค่อยากอัพโหลดภาพแล้วเอาลงโซเชียล ก็ตั้งค่าไฟล์เป็น JPEG ไปเลยก็ได้

 

 

7. อดทน

 

 

ก่อนออกไปถ่ายภาพ Cityscape ให้ลองคิดดูก่อนว่าอยากได้ภาพแบบไหน แทนที่จะออกไปแล้วลงมือถ่ายเลย ให้เดินสำรวจสถานที่ที่จะถ่ายก่อน อาจทำให้ได้สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ และองค์ประกอบของภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้

แต่ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการฝึกฝนอีกแล้ว เพราะไม่ว่าจะถ่ายภาพแนวไหน การลองผิดลองถูก จะทำให้เราค่อย ๆ พัฒนาฝีมือไปเรื่อย ๆ แล้วในที่สุดเราก็จะได้ภาพถ่ายที่สวยงามสักวันหนึ่ง

 

ที่มา contrastly.com

Back to top