แสงเหนือ (Aurora) คือปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามอลังการ หากถ่ายควบคู่ไปกับ Landscape ในฤดูหนาว ยิ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายฝีมือช่างภาพ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทริปล่าแสงเหนือมักอยู่ในท็อปลิสต์อันดับต้น ๆ ของช่างภาพหลายคน
แสงเหนือหรือในบางครั้งเรียกว่าแสงใต้ตามสถานที่ที่ปรากฎ หากพบเห็นที่ขั้วโลกเหนือก็เรียกแสงเหนือ พบเห็นที่ขั้วโลกใต้ก็เรียกแสงใต้ ใครมีโอกาสเดินทางไปไกลหลายพันกิโล คงไม่อยากพลาดได้ภาพถ่ายแสงเหนือสวย ๆ ดังนั้นก่อนออกทริป มาดูกันดีกว่าว่าจะต้องเตรียมตัวและมีวิธีถ่ายแสงเหนืออย่างไร
อุปกรณ์
กล้อง
กล้องที่เลือกใช้ถ่ายแสงเหนือ ควรเป็นกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ เช่น Mirrorless หรือ DSLR
และหากเป็นกล้องที่สามารถเปิด ISO สูง ๆ ได้โดยที่ noise ต่ำๆ ยิ่งดี เพราะจะต้องถ่ายในที่แสงน้อย
เลนส์
ปกติในการถ่ายแสงเหนือ เลนส์ที่ใช้คือเลนส์มุมกว้าง เพื่อเก็บภาพท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ให้ได้มากที่สุด และให้มีฉากหน้าที่น่าสนใจ อีกปัจจัยหนึ่งคือเลนส์ต้องไวแสง (เลนส์ที่สามารถเปิดรูรับแสงได้มาก) เนื่องจากถ่ายในที่แสงน้อย ส่วนทางยาวโฟกัสใช้ตั้งแต่ 10mm ถึง 24mm
ค่า f1.2- f2.8 จริง ๆ แล้วเลนส์แทบทุกชนิดก็ถ่ายได้ทั้งนั้น แต่ถ้าอยากได้ภาพถ่ายแสงเหนือเจ๋ง ๆ ก็นำเลนส์ wide หรือ super wide-angle ที่มีรูรับแสงกว้าง ๆ ติดตัวไปด้วยจะดีกว่า
ขาตั้งกล้อง
เมื่อมีโอกาสไปถ่ายแสงเหนือถึงต่างประเทศ คงไม่มีใครอยากได้ภาพเบลอ ๆ กลับบ้าน ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการสั่นไหวของกล้อง เพราะมือไม่นิ่ง ขาตั้งกล้องคือสิ่งจำเป็น ซึ่งควรเป็นขาตั้งที่มั่นคงและแข็งแรงด้วย เพราะอาจเกิดลมแรงระหว่างถ่ายภาพได้
สายลั่นชัตเตอร์
สายลั่นชัตเตอร์เป็นอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่ช่วยลดการสั่นของกล้อง ซึ่งอาจเกิดเมื่อคุณกดชัตเตอร์กล้อง ไม่อย่างนั้นภาพของคุณก็อาจเบลอได้ หรือจะใช้เป็นรีโมทชัตเตอร์ก็ได้ แต่ต้องดูรุ่นกล้องของคุณด้วยนะ ถ้าไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ ให้ใช้การตั้งเวลาถ่ายภาพ เช่น ตั้งไว้ที่ 2 วินาที แต่ก็อาจทำให้จับภาพช้ากว่าคนอื่น
แบตเตอรี่สำรอง
การถ่ายภาพในสถานที่ที่หนาวจัดจะทำให้แบตเตอรี่หมดไวขึ้น หากแบตเตอรี่ใกล้หมดเมื่อแสงเหนือปรากฎชัดก็จะเสียอารมณ์ได้ จึงควรพกแบตเตอรี่สำรองไปด้วย และเก็บแบตเตอรี่สำรองไว้ในกระเป๋าเสื้อแจ็กเก็ต เพื่อให้ได้ไออุ่นจากร่างกายเรา
โลเกชั่น
สถานที่ที่สามารถไปถ่ายแสงเหนือได้คือ ทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ตัวอย่างประเทศที่ไปแล้ว ได้ภาพถ่ายแสงเหนือเจ๋ง ๆ
-
ไอซ์แลนด์ โลเกชั่นยอดนิยมที่คนมักไปคือ ภูเขา Kirkjufell ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ส่วนช่วงเวลาที่ควรไป คือ ปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนเมษายน
PHOTOGRAPH BY BABAK TAFRESHI, NATIONAL GEOGRAPHIC CREATIVE
- เมือง FAIRBANKS รัฐ ALASKA สหรัฐอเมริกา คือสถานที่ที่ดีเลิศที่จะได้เห็นแสงเหนือในสหรัฐอเมริกา ควรไปตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ถึงกลางเดือนเมษายน
PHOTOGRPAH BY ACCENT ALASKA.COM/ALAMY
- เมือง YELLOWKNIFE แคนาดา เมืองยอดฮิตที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปถ่ายแสงเหนือ ส่วนจุดชมวิวอื่น ๆ ที่นิยมไปกันคืออุทยานแห่งชาติ Wood Buffalo และ Jasper เดือนที่ควรไป คือตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนเมษายน และถ้าไปที่ Wood Buffalo ให้ไปช่วงต้นเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนพฤษภาคม
PHOTOGRAPH BY DON JOHNSTON_NC/ALAMY
-
เมือง Tromsøนอร์เวย์ นอกจากแสงเหนือแล้ว ยังมีธรรมชาติที่สวยงามให้ได้ชม เช่น ฟยอร์ด และเทือกเขา Lyngen ส่วนโลเกชั่นอื่น ๆ ที่นิยมไปกันคือ Lofoten Islands , เมือง Alta, Nordkapp และ Kirkenes ช่วงที่ควรไปคือกลางเดือนกันยายนถึงปลายเดือนมีนาคม
-
PHOTOGRAPH BY BABAK TAFRESHI, NATIONAL GEOGRAPHIC CREATIVE
-
ตอนเหนือของสวีเดนและฟินแลนด์ เมืองทางตอนเหนือของสวีเดนคือ Kiruna มีทั้ง Icehotel อุทยานแห่งชาติ Abisko และหมู่กวางเรนเดียร์ ให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชม ขับจากเมืองไปครู่เดียวก็ถึงจุดชมแสงเหนือแล้ว ส่วนฟินแลนด์ เมือง Rovaniemi ใกล้ๆ กับอุทยานแห่งชาติ ก็เป็นจุดที่จะได้เห็นต้นไม้ปกคลุมด้วยหิมะที่มีชื่อว่า Tykky กับแสงเหนือที่สวยงาม ช่วงเวลาที่ควรไปถ่ายภาพคือ กลางเดือนกันยายน ถึงปลายเดือนมีนาคม
PHOTOGRAPH BY BABAK TAFRESHI, NATIONAL GEOGRAPHIC CREATIVE
-
ตอนเหนือของกรีนแลนด์ มีแสงเหนือที่สวยงามให้ได้ชม แต่ถ้ามุ่งหน้าลงใต้ก็มีโอกาสได้เห็นภูเขาน้ำแข็ง Qaleraliq รวมทั้งแสงเหนือด้วย ช่วงเวลาที่ควรไปคือกลางเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนเมษายน ส่วนเมือง Nunk ควรไปช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนเมษายน
PHOTOGRAPH BY RICHARD MCMANUS, GETTY IMAGES
-
แทสมาเนียและนิวซีแลนด์ คือที่ที่คุณจะได้เห็นแสงใต้ เพราะปกติเรามักไปกันแต่ขั้วโลกเหนือ เนื่องจากมีโลเกชั่นไม่กี่ที่ที่จะได้เห็นในขั้วโลกใต้ นั่นก็คือ แทสมาเนียในประเทศออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์ ที่สามารถไปได้ตลอดทั้งปี
PHOTOGRAPH BY RICHARD MCMANUS, GETTY IMAGES
วิธีถ่ายภาพให้ได้แสงเหนือเจ๋ง ๆ
-
ก่อนถ่ายภาพให้เลือกเป็นไฟล์ RAW เพื่อให้แต่งภาพภายหลังได้ แต่อาจต้องพกเมมโมรี่การ์ดที่ความจุมาก ๆ หรือพกเมมโมรี่การ์ดสำรอง เพราะไฟล์ Raw มีขนาดใหญ่กว่าไฟล์ Jpeg
-
ตั้งค่าเป็นโหมด M หรือ Manual ปรับไปที่โฟกัส infinity โดยอย่าลืมปิดแฟลชและ auto focus ที่เลนส์ของคุณ ไม่เช่นนั้นเลนส์จะโฟกัสใหม่ทุกครั้งที่แสงเหนือมีการเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลง อาจทำให้พลาดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ได้
-
เปิดรูรับแสงให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือ f เลขน้อย ๆ เช่น f1.2 - f2.8 หรือ f3.5 และ f4 สำหรับเลนส์ซูม ส่วนการตั้งค่า white balance ควรปิด Auto White balance และตั้งค่า
3000 - 4000K ซึ่งจะให้ภาพที่มีสีโทนเย็นและธรรมชาติมากกว่าใช้ 4000K ขึ้นไป
-
ตั้งค่าสปีดชัตเตอร์เป็น Bulb และใช้สายลั่นชัตเตอร์ควบคู่ไปด้วย จะทำให้ถ่ายภาพได้สะดวกขึ้น ในการถ่ายภาพแสงเหนือ ควรเปิดสปีดชัตเตอร์นานๆ ระหว่าง 3 - 12 วินาที ยิ่งเปิดสปีดชัตเตอร์นาน ๆ แสงเหนือและดาวก็ยิ่งดูคล้ายกำลังเคลื่อนผ่านท้องฟ้า
-
การตั้งค่า ISO หรือค่าไวแสง ขึ้นอยู่กับกล้องและการตัดสินใจของแต่ละคน ซึ่งกล้องแต่ละรุ่นนั้นมี range ISO ที่แตกต่างกัน คือสามารถดัน ISO ได้สูงสุดแค่ไหน และอยากให้มี noise มากน้อยเพียงใดในภาพ ซึ่งการใช้ ISO สูง ๆ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งเกิด noise
ลองเริ่มตั้งค่า ISO ที่ 800 และค่อย ๆ ปรับจนกว่าจะได้ภาพที่ต้องการ แต่การตั้งค่าทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแสงในตอนนั้น ๆ
-
อย่าลืมใช้ขาตั้งกล้องด้วย หากอยากได้ภาพแสงเหนือที่คมกริบ และอย่าสัมผัสกล้องระหว่างใช้สปีดชัตเตอร์นาน
-
ในการจัดองค์ประกอบภาพให้ลองหาฉากหน้าที่น่าสนใจ เพราะภาพถ่ายแสงเหนือจะโดดเด่นที่สุด โดยจะใช้ต้นไม้ อาคาร รถยนต์ หรือเพื่อนที่ไปด้วยก็ได้ แต่ตัวแบบอาจมืด ต้องใช้แหล่งกำเนิดแสงส่องที่ตัวแบบ บางคนพอเห็นแสงเหนือก็ตื่นเต้นรีบยกกล้องขึ้นถ่าย โดยให้เห็นเฉพาะแสงเหนืออย่างเดียว ให้จัดองค์ประกอบภาพเหมือนตอนถ่าย Landscape จะดีกว่า
บางทีเราอาจเลือกใช้ทัวร์ต่างประเทศที่จัดไปล่าแสงเหนือ เพราะผู้จัดทัวร์มักมีความชำนาญในพื้นที่นั้น ๆ และรู้จุดชมวิวที่ดี รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางด้วย ขอให้สนุกกับการถ่ายแสงเหนือ และได้ภาพถ่ายแสงเหนือเจ๋ง ๆ กันนะครับ
ที่มา
digital-photography-school.com