ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
ภาพที่เราเห็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจนชินตาไม่ว่าพระองค์จะเสร็จไปที่ใดก็จะทรงถือกล้องถ่ายภาพไว้ในพระหัตถ์เสมอ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระทัยในการถ่ายภาพตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ตามที่บันทีกไว้ในพระราชประวัติถึงพระราชอัจฉริยภาพทางด้านการถ่ายภาพว่า “ทรงสนพระทัยด้านการถ่ายภาพตั้งแต่พระชนมายุได้ ๘ พรรษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้พระราชทานกล้องถ่ายภาพตัวแรกให้แก่พระองค์ หลังจากนั้นพระองค์ทรงศึกษาด้านการถ่ายภาพด้วยพระองค์เองมาโดยตลอด
การถ่ายภาพถือเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสนพระทัยอย่างจริงจัง ในสมัยก่อนนั้นเทคโนโลยีการถ่ายภาพยังไม่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบันการปรับตั้งค่าต่างๆยังต้องทำด้วยพระองค์เองไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยแต่อย่างใด ถือเป็นเรื่องยุ่งยากมากสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเรียนรู้เรื่องารถ่ายภาพ แต่พระองค์ท่านได้ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองและฝึกฝนจนพระองค์สามารถใช้กล้องได้อย่างชำนาญไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายภาพนิ่งหรือกล้องถ่ายภาพยนตร์
ในช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงพระยศเป็นพระอนุชา ทรงถ่ายภาพรามเกียรติ์ที่ผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้พิมพ์ลงในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทำหน้าที่เสมือนช่างภาพส่วนพระองค์ในขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอีกด้วย เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็ทรงโปรดถ่ายภาพสิ่งต่าง ๆ เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์จะปรากฏบนปกนิตยสารต่าง ๆ เสมอ เช่น วารสารแสตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
พระองค์เคยมีพระราชดำรัสอย่างพระอารมณ์ขันแก่คนสนิทว่า
“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนเดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปี มาแล้ว จนบัดนี้ก็เห็นเขายังไม่ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายไว้เดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”
ภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขณะเสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดสมุทรปราการ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัย เกี่ยวกับเทคโนโลยีการถ่ายภาพอย่างมาก ทรงสะสมตำราเกี่ยวกับการถ่ายภาพไว้เป็นจำนวนมาก และ พระองค์ทรงศึกษาจากตำรา เหล่านั้น และทรงคิดค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ อาทิอย่างเช่น ทรงเคยนำแว่นกรองแสงชนิดพิเศษติดหน้าเลนส์ ลักษณะของแว่นกรองแสงเป็นแผ่นใส ส่วนบนเป็นสีฟ้า ส่วนล่างเป็นสีแสด และเมื่อถ่ายภาพ ผลที่ได้ คือส่วนล่างเป็นสีธรรมชาติ ส่วนบนจะได้สีฟ้า และส่วนล่างจะได้สีแสด พระองค์ทรงเคยใช้แว่นกรองแสงนี้ทดลองฉายพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทำให้สีของสิ่งต่าง ๆ ในภาพ เช่น ชุดฉลองพระองค์ พระเก้าอี้ พระวิสูตร พรม เป็นสีสอดคล้องสัมพันธ์เข้าเป็นสีชุดเดียวกัน พระองค์ทรงประดิษฐ์แว่นกรองพิเศษนี้ ในขณะนั้น ยังไม่มีบริษัทใดผลิตแว่นกรองแสงเพื่อใช้ในการถ่ายภาพมาก่อน
ภาพถ่ายมุมมองจากในรถยนต์พระที่นั่ง
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ยังทรงเชี่ยวชาญกระบวนการในห้องมืด เช่นการล้างฟิล์มและการอัดขยายภาพทั้งขาวดำและสี ทรงเคยจัดทำห้องมือที่บริเวณชั้นล่างของตึกที่ทำการสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อสำหรับล้างฟิล์มและขยายภาพสี โดยใช้เครื่องล้างและเครื่องขยายภาพสีอัตโนมัติ แบบที่ใช้ในห้องปฏิบัติการมาตรฐานทั่วไป พระองค์ทรงรู้เรื่องทฤษฎีสีเป็นอย่างดี และทรงศึกษาการควบคุมเครื่องล้างและขยายภาพสีอัตโนมัติ จนสามารถอัดขยายภาพสีและแก้สีภาพต่างๆด้วยพระองค์เอง
พระปรีชาของพระองค์ท่าน สามารถด้านการถ่ายภาพได้ ขจรขจาย ไปทั่ววงการถ่ายภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2514 ทางสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย จึงได้ทูลเกล้าฯถวายเข็มทองศิลปะการถ่ายภาพแด่พระองค์ท่าน
นอกจากนี้ ราชสมาคมถ่ายภาพแห่งสหราชอาณาจักร (The Royal Photographic Society of Great Britain) ได้กราบบังคมทูลเชิญให้ดำรงตำแหน่งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Honorary Fellow) และสหพันธ์ศิลปะการถ่ายภาพนานาชาติ (Fediration International de l’Art Photographique) ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายเกียรติบัตรสูงสุด (Honorary Excellent FIAP) ด้วย
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีจำนวนมากมาย แต่สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท หลักๆ ได้แก่ ภาพแนวจิตรศิลป์ และภาพแสดงพระปณิธานในการพัฒนาประเทศ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ-สยามมกุฎราชกุมาร-ขณะตามเสด็จเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร
ทรงถ่ายภาพเงาของพระองค์เองที่สะท้อนในบ่อสรงน้ำ
ทูลกระหม่อม-4-พระองค์ทรงวางพระหัตถ์ขวาเรียงเทียบขนาดกันไว้เสมือนเป็นความสามัคคี
นอกจากจะทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นแบบอย่างให้กับข้าราชบริพาร ช่างภาพที่ถวายงานตามเสด็จในเรื่องวิธีคิดและการใช้ชีวิตอีกด้วย ดังเช่นครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับสั่งถามว่า “เคยรู้ไหมว่าเสียงชัตเตอร์ดังอย่างไร” ทุกคนก็ตอบว่า ดังแชะๆ แต่พระองค์ท่านตรัสว่า ของเราดัง “เชดเบิด” ทรงเลียนเสียง เชดเบิด ก็คือ 7 บาทนั้นเอง ถ่ายภาพ 1 ภาพกว่าจะได้มานั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่ารถ ค่ากิน ค่าเสื่อมของกล้อง ค่าฟิล์ม และค่าล้างฟิล์ม กว่าจะได้ออกมาเป็นภาพถ่าย 1 ภาพก็เสียเงินไปประมาณ 7 บาทนั้นเอง จากพระราชดำรัสนี้ทำให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงละเอียดและทรงรอบคอบอย่างยิ่ง ทรงแสดงให้เห็นต้นทุนของภาพถ่าย 1 ภาพว่ามีอะไรบ้าง "พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งอีกว่า 'ฉันไม่ได้ห้ามให้ถ่ายรูปนะ แต่เมื่อจะกดชัตเตอร์ควรดูให้ดีเสียก่อน จะได้คุ้มกับเงิน 7 บาท' ท่านทรงหมายความว่า เวลาถ่ายภาพอย่าถ่ายเรื่อยเปื่อย สักแต่ว่ากดๆไป คุณเสียเงินแล้วนะครั้งละ 7 บาท นี่แสดงให้เห็นถึงความมัธยัสถ์ และเป็นคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี"
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้กล้องถ่ายภาพหลากหลายรุ่น หลากหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นกล้องตัวไหนประองค์ก็สามารถใช้งานได้อย่างชำนาญทั้งสิ้น แม้ว่าพระองค์จะเป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงโปรดที่จะใช้กล้องรุ่นที่ดีที่สุด หรือแพงที่สุดแต่อย่างใด แต่กล้องทุกตัวที่พระองค์ทรงใช้งานนั้น กลับเป็นกล้องมาตรฐานธรรมดาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งพระราชจริยวัตรนี้ มีผู้ใหญ่ในวงการถ่ายภาพอธิบายเป็นการเทิดพระเกียรติว่า
“...ประเทศไทยเราผลิตกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพไม่ได้เลย เราต้องเสียดุลย์การค้าให้กับต่างประเทศเป็นอันมาก จึงควรสังวรณ์ระวังการใช้จ่ายในเรื่องนี้ให้ดีแต่พอเหมาะพอควร ส่วนผู้ที่ทำธุรกิจทางการถ่ายภาพต้องการผลิตงานคุณภาพดี ต้องใช้ของดีราคาแพงนี่เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น ผู้ที่ถ่ายภาพกันโดยทั่วไปเพียงแต่ใช้กล้องถ่ายภาพระดับมาตรฐานทำงานได้ อย่างถูกต้องก็เหมาะดีที่สุดแล้ว…”
นอกจากการถ่ายภาพจะเป็นงานอดิเรกที่สร้างความสุขให้กับพระองค์แล้ว พระองค์ยังมีพระประสงค์ให้ใช้ภาพถ่ายในการสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับประชาชนของพระองค์อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานให้กับคณะกรรมการจัดทำหนังสือภาพพัฒนาประเทศเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ความว่า
"...รูป ที่ถ่าย เราก็ปะตัดเอาไปให้หนังสือพิมพ์ พิมพ์ขึ้นมาเป็นหนังสือเป็นสิ่งที่ให้ความสุข ให้ความสบายใจ ก็เพราะว่าการถ่ายรูปนั้นไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายรูปให้เป็นศิลปะ หรือจะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร เป็นแต่เพียงกดชัตเตอร์สำหรับเก็บรูปให้เป็นที่ระลึก แล้วถ้ารูปนั้นดี มีคนได้เห็นรูปเหล่านั้นและพอใจ ก็จะทำให้เป็นการแผ่ความสุขไปให้ผู้ที่ได้ดู เพราะว่าเขาชอบหมายความว่าได้ให้ เขามีโอกาสได้เห็นทัศนียภาพที่เขาอาจไม่ค่อยได้เห็น หรือในมุมที่เขาไม่เคยเห็น ก็แผ่ความสุขไปให้เขาอีกทีหนึ่ง เป็นจุดประสงค์ของการถ่ายรูป..."
ภาพถ่ายนอกจากจะเป็นศิลปะแขนงหนึ่งแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของภาพถ่ายที่นอกจากเป็นงานศิลปะแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศได้ ดังเช่นพระดำรัชของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่พระราชทานเป็นคำนำในหนีงสือ “ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ความว่า
“...ในงานด้านพัฒนา ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ก็เป็นส่วนสำคัญยิ่ง
ยกตัวอย่างเช่น ภูมิประเทศในบริเวณที่น่าสนใจ พื้นที่เหมาะสมที่จะสร้างเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ
บริเวณหมู่บ้าน เส้นทางคมนาคม ทั้งที่ถ่ายจากพื้นราบและถ่ายขณะประทับอยู่ในเครื่องบิน
หรือเฮลิคอปเตอร์ ภาพเหล่านี้สามารถใช้ประกอบพระราชดำริในการพัฒนาได้
เมื่อสร้างโคตรการเสร็จแล้ว บางทีก็ทรงถ่ายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกับผลงานของเข้าเอาไว้ด้วย…”
รวมถึงพระราชดำรัชของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพ แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ความตอนหนึ่งว่า
“การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์
ขออย่าให้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนาน หรือความสวยงามเท่านั้น
จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคม ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง”
ภาพประชาชนที่มารอรับเสด็จ ถ่ายจากในรถยนต์พระที่นั่ง
ทรงถ่ายภาพท่ามกลางฝนที่หนัก ขณะเสร็จเยี่ยมชาวไทยภูเขาที่จังหวัดเชียงใหม่
ภาพจากเครื่องบินพระที่นั่ง-ขณะเสด็จไปเชียงใหม่
มุมมองส่วนพระองค์-จากพระที่นั่งในพระบวนพยุหยาตราทางชลมารคพระราชพิธีกฐินหลวง
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงแต่เป็นบันทึกเรื่องราวส่วนพระองค์แล้ว ยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ประกอบพระราชกิจด้วยความยากลำบากตลอดการครองราชยาวนานถึง 70 ปี ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล และพระอัจฉรียภาพด้านต่างๆที่พระองค์ได้มีพระราชดำริอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทยผ่านโครงการในพระราชดำริกว่า 4000 โครงการ ทำให้ประชาชนอันเป็นที่รักของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ประชาชนชาวไทยได้รับจากพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย
ที่มา : matichon.co.th, siamklongfilm.com