Thailand English
 
Thailand English

 

 

เคล็ดลับการตั้งค่าการถ่ายภาพตอนกลางคืน

การถ่ายภาพเวลากลางคืนมีโอกาสที่ภาพของเราจะอลังการกว่าในเวลากลางวัน เพราะตอนกลางคืนทุกสถานที่จะเต็มไปด้วยมนตร์เสน่ห์ที่ต่างออกไป เช่น สะพาน สถานที่ท่องเที่ยวหรืออาคาร ที่ส่องสว่างไปด้วยแสงไฟ จนสวยจับใจกว่าในเวลากลางวัน  

 

แต่ความท้าทายอย่างหนึ่งในการถ่ายภาพตอนกลางคืนก็คือการวัดแสง ตอนกลางวันเราสามารถยกกล้องและถ่ายภาพได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องกังวลกับการตั้งค่ามากนัก เนื่องจากตอนกลางวันมีแสงสว่างมาก ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าถ้าต้องดัน ISO สูงๆ แล้วจะเจอ Noise ในภาพ หรือไม่จำเป็นต้องพกอุปกรณ์ไปเยอะๆ ทั้งขาตั้งกล้องหรือรีโมตชัตเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยไม่ให้ภาพเบลอ และนี่คือทิปง่ายๆ ในการตั้งค่ากล้องเมื่อถ่ายภาพตอนกลางคืน

 

Proper Exposure at Night - Millenium Bridge example

ใช้สปีดชัตเตอร์ 4 วินาที, f5.6 , ISO400

 

Proper Exposure at Night - ouvre example

ใช้สปีดชัตเตอร์ 4 วินาที, f11 และ ISO 400

1. ตั้งค่า Manual

ในการถ่ายภาพตอนกลางคืน ควรตั้งค่ากล้องเป็นโหมด Manual จะดีกว่า เพื่อปรับค่าสปีดชัตเตอร์ รูรับแสงและISO ด้วยตัวเอง หากใช้โหมด auto กล้องจะคำนวณทุกอย่างให้ และอาจวัดแสงลำบาก เมื่อมีความต่างระหว่างสว่างและมืดในภาพเดียวกัน จึงควรใช้ Manual  

นอกจากนี้หากไม่มีเลนส์ไวแสง หรือเลนส์ที่มีค่า f น้อยๆ ก็ควรใช้ขาตั้งกล้อง เพื่อให้ถ่ายภาพแล้วไม่เบลอ

 

2. ใช้โหมด Bulb

เมื่อเราถ่ายภาพด้วยโหมด Manual จะเปิดสปีดชัตเตอร์ได้สูงสุด 30 วินาที หากต้องการให้สปีดชัตเตอร์นานกว่าก็ให้เปลี่ยนไปใช้โหมด Bulb ทำให้ใช้สปีดชัตเตอร์ได้นานหลายๆ นาที ซึ่ง

แสงจะผ่านเข้ามาได้มากขึ้น

หลักการทำงานของโหมด Bulb ต้องกดชัตเตอร์ค้างไว้ โดยชัตเตอร์จะเปิดค้างอยู่นานเท่าที่ต้องการ  จนกระทั่งเราปล่อยมือออกจากปุ่มชัตเตอร์ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการสั่นของกล้องหรือการเคลื่อนไหว ให้ใช้รีโมตชัตเตอร์ควบคู่ไปกับขาตั้งกล้อง

 

Proper Exposure at Night - Pigeon Point example

ใช้สปีดชัตเตอร์ 6 วินาที,  f/5.6, ISO1600

 

3. ถ่ายไฟล์ RAW

เมื่อถ่ายภาพตอนกลางคืนควรตั้งค่าไฟล์ Raw เพราะส่วนมากกล้องจะมาพร้อมไฟล์ Raw14bit ขณะที่ Jpeg มาพร้อม 8bit ยิ่งจำนวน bit มากๆ ก็มีค่าความกว้างของสีมากขึ้น ทำให้เก็บรายละเอียดของสีได้มากกว่า และไล่สีได้สมูทกว่า ดังนั้นในการถ่ายภาพด้วยไฟล์ Raw จะสามารถดึงสีและแต่งภาพได้มากกว่าไฟล์ Jpeg

 

4. ใช้ไฟฉาย

ถ้าเราสามารถปรับ Dial ต่างๆ โดยไม่มองกล้อง จะเป็นผลดีเวลาถ่ายภาพตอนกลางคืน เพราะในเวลากลางคืนอาจมีแสงสว่างไม่เพียงพอให้เห็นตัวกล้อง เหตุนี้จึงควรพกไฟฉายติดตัวไปด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถเห็นปุ่มต่างๆ บนกล้องหรือขาตั้ง นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ไฟฉายส่องหาวัตถุที่ต้องการโฟกัสในความมืดได้อีก แต่ทุกวันนี้ก็มีแอพพลิเคชั่นไฟฉายในสมาร์ตโฟนเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น

 

https://unsplash.com/photos/d6yDSisNi4w  

Photo by Dino Reichmuth on Unsplash

 

Proper Exposure at Night - Brooklyn Bridge

ใช้สปีดชัตเตอร์ 10วินาที, f9.0, ISO200

 

5. การตั้งค่า

ค่ารูรับแสง : ควรตั้งค่ารูรับแสงกว้างๆ กว่าถ่ายภาพตอนกลางวัน หรือ f เลขน้อย เพราะยิ่งเปิดรูรับแสงกว้าง แสงจะผ่านเข้ามาในกล้องมากขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าต้องการถ่ายอะไร

ค่า ISO : ใช้ ISO ต่ำๆ เพราะในการถ่ายภาพตอนกลางคืนจะมีพื้นที่สีดำ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิด noise ได้ ถ้าใช้ ISO สูง ๆ  

สปีดชัตเตอร์ : ถ้าใช้ขาตั้งกล้อง จะสามารถเปิดชัตเตอร์ได้นานเท่าที่ต้องการ หรือถ้าไม่มีขาตั้งกล้องก็ดัน ISO สูงๆ แทน นอกจากนี้หากต้องการถ่ายแสงไฟเป็นเส้นสาย และถ่่ายน้ำพุหรือสายน้ำที่กำลังไหลให้เป็นเส้นสายที่นุ่มนวล ก็ควรใช้สปีดชัตเตอร์นาน ๆ ภาพก็จะโดดเด่นขึ้น

 

เมื่อถ่ายภาพโดยเปิดสปีดชัตเตอร์นาน ๆ เช่น ดาวเป็นเส้นสาย ควรเช็กว่าเปิด Long Exposure Noise Reduction ในเมนูกล้องอยู่หรือไม่ ถ้าเปิดฟีเจอร์นี้อาจทำให้เสียเวลาในการถ่ายภาพใบต่อๆ ไปได้ หากตั้งค่ากล้องไม่ดี เพราะกล้องจะคำนวณค่ารับแสงโดยใช้เวลาเป็นอีกหนึ่งเท่าของสปีดชัตเตอร์ที่เปิด เช่น เปิดสปีดชัตเตอร์นาน 30 นาที ก็ต้องรอประมวลผล อีก 30 นาที แต่โหมดนี้จะช่วยลบ noise ในภาพได้

 

6. โหมดวัดแสง

การตัดสินใจเลือกใช้โหมดวัดแสงในการถ่ายภาพตอนกลางคืนอาจซับซ้อนหน่อย เพราะถ้าใช้โหมดวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ กล้องอาจสับสน ควรลองเปลี่ยนมาใช้โหมดวัดแสงเฉพาะจุด หรือโหมดวัดแสงแบบ Highlight-Weight เพื่อรักษาไฮไลท์ในภาพจะดีกว่า  

Proper Exposure at Night - Dallas example

ใช้สปีดชัตเตอร์ 5 วินาที ,ค่ารูรับแสงที่ f16, และ ISO400

 

7. เทสต์ถ่ายภาพด้วย ISO สูงๆ ก่อน

ควรเทสต์ถ่ายภาพก่อนลงมือถ่ายจริงๆ เพราะหากไม่ลองถ่าย และเปิดสปีดชัตเตอร์ทิ้งไว้นานๆ อาจต้องนั่งรอ 30 วินาที ถึง1 นาที หรือนานกว่านั้น และได้ภาพที่ไม่ดี ทำให้เสียเวลาได้  

ยกตัวอย่าง หากเราตั้งค่ากล้องทุกอย่างเรียบร้อยพร้อมถ่ายภาพแล้ว เช่น ตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ที่ 30 วินาที ค่า f5.6 และ ISO ที่ 400 และรอจนถึง 30 วินาที ดัน ISO และเพิ่มสปีดชัตเตอร์ให้ตรงกับเลข fstop ซึ่งการวัดแสงจะต้องเหมือนกัน แต่ควรวัดแสงเพื่อเทสต์ถ่ายภาพก่อน ซึ่งในกรณีนี้จะดัน ISO เพิ่ม 4 stop เพื่อที่จะใช้ ISO 6400 (ดันไป 1 stop จะไปที่ ISO800 เพิ่มอีก 1 stop ก็เป็น ISO 1600 3 stop ก็เป็น ISO 3200 และ 4 stop เป็น ISO 6400) ทำให้ลดสปีดชัตเตอร์ 4 stop เหลือเพียง 2 วินาที (การลดสปีดชัตเตอร์ลง 1 stop จะเหลือแค่ 15วินาที 2stop จะเหลือแค่ 8 วินาที 3stop เหลือ 4 วินาที และ 4 stop เหลือแค่ 2 วินาที)

 

8. ถ่ายคร่อมแสง

การถ่ายภาพตอนกลางคืนคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอภาพหนึ่งใบที่มีการวัดแสงต่างกัน เมื่อต้องการเก็บรายละเอียดต่างๆ ในภาพให้ครบ จึงควรใช้การถ่ายคร่อมแสงเข้ามาช่วย เช่น Blending และ HDR หรือจะถ่ายภาพหลายๆ ใบโดยวัดแสงต่างกัน และแต่งภาพรวมกันภายหลังก็ได้

 

Proper Exposure at Night - San Antonio Riverwalk example

 

ใช้สปีดชัตเตอร์ 30 วินาที, ค่ารูรับแสง f11 และ ISO200

 

9. เช็กค่า Histogram

เมื่อตั้งค่ากล้องเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถเช็กได้จากค่า histogram ซึ่งเป็นกราฟแท่ง โดยดูจากหน้าจอ LCD หลังกล้องได้ ควรระวังกราฟพุ่งขึ้นทางด้านขวา ซึ่งหมายความว่าจะได้ภาพสว่างจ้า การถ่ายภาพตอนกลางคืนควรให้กราฟพุ่งขึ้นด้านซ้าย ก็คือภาพมืด แต่จริงๆ แล้วไม่มีกฎตายตัวในการอ่านค่า Histogram ขึ้นอยู่กับสภาพแสงตอนนั้น






ที่มา

digital-photography-school.com 



 

Back to top