Thailand English
 
Thailand English

 

 

SONY ALPHA A55 : บินไปกับบอลลูน

SONY ALPHA A55 : บินไปกับบอลลูน


เครื่องบินเหมือนดังนก เฮลิคอปเตอร์คือแมงปอ แต่บอลลูนคือผีเสื้อ ที่ค่อยๆ บินไปพร้อมกับสีสันสดใส แต่งแต้มโลกใบนี้ให้มีชีวิตชีวา

บอลลูน อากาศยานชนิดแรกของโลก ที่นำพามนุษย์ขึ้นไปบนท้องฟ้า ก่อนจะพัฒนาเป็นเครื่องบิน และยานอวกาศ แต่แม้จะพัฒนาไปไกลแค่ไหน บอลลูนก็ยังมีความคลาสสิค ให้ผู้ได้พบเห็นหลงใหล แต่งแต้มท้องฟ้าให้สวยงาม
ด้วยเสน่ห์บอลลูน ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ส่งเสริมให้มีการจัดงานมหกรรมบอลลูนขึ้นตั้งแต่ปี 2008 และจัดเรื่อยมาทุกปี จนมาถึงปีนี้ ที่มหกรรมบอลลูนนานาชาติ 2011 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา



ความพิเศษของการไปเที่ยวงานบอลลูนในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การไปดูบอลลูนบนพื้นราบ แต่เรายังได้รับโอกาสได้ขึ้นไปบนฟ้า และได้พากล้อง SONY Alpha A55 ขึ้นไปเก็บบรรยากาศมาฝากท่านผู้อ่าน ทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว เพื่อสัมผัสความรู้สึกของการบินบอลลูนไปพร้อมๆ กันค่ะ



ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกล้องกันก่อน กล้อง SONY Alpha A55 เป็นกล้องตระกูล Alpha ทีเปลี่ยนเลนส์ได้ รุ่นเล็ก ความละเอียดการใช้งาน 16.2 ล้านพิกเซล ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด คือ เทคโนโลยี translucent mirror

 

ทำความรู้จัก Translucent Mirror



เทคโนโลยี translucent mirror เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยกเอากระจกสะท้อนภาพ แบบกล้อง SLR หรือ DSLR รุ่นก่อนๆออกไป แล้วแทนที่ด้วย translucent mirror ที่สะท้อนแสง 30 เปอร์เซ็นต์ไปที่ระบบออโต้โฟกัส และอีก 70 เปอร์เซ็นต์เข้าเซ็นเซอร์รับภาพ ดังนั้นกล้องรุ่นนี้จึงไม่มีปริซึมหรือกะโหลกกล้องคอยสะท้อนภาพจากเลนส์เข้าสู่เซ็นเซอร์อีกต่อไป แต่เป็นการรับภาพผ่านเลนส์ไปที่เซ็นเซอร์โดยตรง ทำให้กล้อง SONY ALPH A55 ถ่ายภาพได้รวดเร็ว โฟกัสแม่นยำ แม้วัตถุจะมีการเคลื่อนไหว ที่รวดเร็ว

การแทนที่ด้วยเทคโนโลยีแบบ translucent mirror ทำให้ช่องมองภาพจะถูกแทนที่ด้วย ช่องมองแบบ EVF (Electronic viewfinder) ช่องมองภาพเสมือนจริง มีข้อดี คือ เป็นการมอง ณ เวลานั้นอย่างแท้จริง เรียกได้ว่าเป็นการใช้ Live View แบบ Fulltime โดยเรียกระบบนี้ว่า SLT (Single Lens Translucent)

หลังจากทำความรู้จักกล้องกันแล้ว การรีวิวกล้อง SONY ALPHA 55 ในครั้งนี้เนื่องจากกล้องรุ่นนี้ออกมาหลายเดือนแล้ว ท่านผู้อ่านคงได้อ่านรีวิวสเป็คอย่างละเอียดกันไปแล้ว ดังนั้นเนื้อหาในคอลัมน์นี้ จะเน้นไปทางโชว์คุณภาพไฟล์ที่ได้จาก SONY ALPHA 55 พร้อมทั้งพาเที่ยวประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากกว่าค่ะ


ถ้าใครยังไม่เคยผ่านตา หาอ่านข้อมูลสเป็คทั้งหมดได้ จากลิงค์นี้ค่ะ
http://bigcamera.co.th/index.php?dispatch=products.view&product_id=30747


เกริ่นมาเสียยาว ได้เวลาบินกันเสียที

ความใฝ่ฝันในวันเด็ก คือ ฉันอยากเป็นนก บินไปอย่างอิสระบนท้องฟ้า สัมผัสปุยเมฆ และสายลมพัด มองไปให้ไกลสุดสายตา แล้วถลาลงมาที่ใดก็ได้บนพื้นดิน การได้รับคำเชิญให้ขึ้นบอลลูนในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่ขึ้นไปทดสอบประสิทธิภาพของกล้อง แต่ยังเป็นการทำความฝันให้เป็นจริง

มาถึงสถานที่นัดพบตั้งแต่ตีห้า ทันการลอยโคมเพื่อทดสอบกระแสลม พร้อมกับทำการ Brief เพื่อความปลอดภัยในการบินเช้าวันนี้ ก่อนจะแยกย้ายประจำที่รถขนบอลลูนของแต่ละทีม เพื่อเคลื่อนขบวนไปใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา สถานที่ปล่อยบอลลูน



เคลื่อนขบวนจากโรงแรมมีเพียงแสงไฟหน้ารถ จำเป็นต้องใช้โหมด Hand Held Twilight (ถ่ายกลางคืนถือด้วยมือ) กว่าจะเตรียมบอลลูนเสร็จก็เช้าพอดี ยืนมองบอลลูน ขึ้นไปทีละลูก...ทีละลูก สีสันสดใส ตัดกับท้องฟ้ายามเช้า ได้เวลาขึ้นบินกันเสียที บอลลูนลอยขึ้นอย่างรวดเร็ว วิวอันเวิ้งว้างมุมสูงเข้ามาแทนที่ ได้ภาพมุมมองใหม่แตกต่างจากการชมวิวบนภูเขา



พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว แสงทองจากท้องฟ้า ผสมหมอกจากๆ ช่างสวยงามเหลือเกิน เราบินกันไม่สูงมาก แล้วเริ่มลดระดับลงเรื่อยๆ ชาวบ้านเห็นเราก็โบกไม้โบกมือตื่นเต้นกันใหญ่ ส่วนสัตว์เลี้ยง ทั้งไก่ทั้งวัวก็พากันแตกตื่น เพราะการยิงไฟเสียงค่อนข้างดัง พี่นักบินตะโกนบอกขอโทษ ครับๆ


ภาพนี้ใช้เลนส์ 70-300 มม. ซูมสุดแล้วก็ยังเห็นคนตัวเท่านี้


หลังจากบินได้เพียงสิบกว่านาทีก็ต้องลงจอด เพราะทิศทางลมพัดออกทะเล พี่นักบินบอกว่าถ้าเลยไปจากนี้เราจะหาที่ลงลำบาก พี่นักบินตัดสินใจแลนดิ้ง ตะกร้ากระทบพื้น 1 ที ก่อนจะลอยขึ้นนิดหน่อยและจอดสนิทต้องอยู่ในตะกร้าอีกซักพักเพื่อถ่วงน้ำหนัก รอทีมงามบอลลูนมาถึง


ภาพแสงทองกระทบดอกหญ้า ถ่ายในตระกร้าบอลลูน


ระหว่างรอทีมงานในตะกร้า แสงทองก็สาดส่องลงมาพอดี อดใจไม่ไหว ขอเก็บภาพขณะอยู่ในตะกร้าบอลลูน โชคดีที่ติดเลนส์ SONY 11-18 กว้างพอที่จะเห็นลูกบอลลูน กับทุ่งหญ้าที่เราลงจอด



เมื่อทีมงานลัดเลาะตามทางดินเพื่อมาช่วยเก็บบอลลูน มาถึงแล้ว ก็ช่วยกันเก็บบอลลูน ซึ่งทั้งใหญ่และหนัก ดังนั้นบินบอลลูน นอกจากความสามารถของนักบินแล้วยังต้องอาศัยทีมเวิร์คที่ดี ตั้งแต่การเตรียมบอลลูน และการเก็บบอลลูน



หลังจากเก็บบอลลูนเสร็จ ได้เวลาขึ้นรถกลับ วกเราหลงทางนิดหน่อยก่อนจะกลับไปยังที่พัก เพื่อรอเวลาขึ้นบอลลูนในรอบเย็น และก่อนจะถึงไฮไลท์ของทริปนี้ เรามาทำความรู้จักกับนักบินบอลลูน กัปตันของเรากันก่อน ดูจากประวัติแล้วไม่ธรรมดา เป็นถึงนักบินบอลลูนที่ได้ใบอนุญาตคนแรกของประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาสมาคมการบินและเป็นนักบินบอลลูนคนไทยคนหนึ่ง ในไม่กี่คนที่บินบอลลูนในงานนี้ เพราะนอกนั้นเป็นต่างชาติทั้งหมด

นักบินบอลลูนของเราในวันนี้ คือ ร.อ.ชาย สุวัตถิ เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นนักบินบอลลูนคนแรกที่ได้รับในอนุญาติ ของประเทศไทย



หลังจากทำความรู้จัก ร.อ. ชาย สุวัตถิ กันแล้ว ได้เวลาเตรียมบินรอบเย็น เริ่มจากนัดพบกันเวลา 16 นาฬิกา บรรยากาศยามบ่ายแก่ๆ ชวนให้ถ่ายภาพ นอกจากจะมีบอลลูนแล้ว ยังมีว่าว และเครื่องบินบังคับโชว์อีกด้วย



ทีมบอลลูนขนของลงจากรถแล้วเตรียมการกันอย่างขะมักเขม้น ขั้นตอนการเตรียมบอลลูนเริ่มตั้งแต่ตะแคงตะกร้า ลากถุงบอลลูนมาเชื่อมลูกบอลลูนกับตะกร้าด้วยสลิง ขั้นตอนนี้พี่ชาย กัปตันของเราตรวจเช็คอย่างละเอียด ก่อนจะนำพัดลมมาเป่าลมเย็นเข้าลูกบอลลูน เพื่อให้มีอากาศภายในลูกบอลลูน แล้วจึงยิงไฟปล่อยลมร้อน เพื่อให้มีการยกของบอลลูน การเตรียมบอลลูนต้องอาศัยทีมเวิร์คที่ดี ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ที่สุด เพราะหากพลาดซักนิดเดียว นั่นหมายถึงอันตรายถึงชีวิต



เมื่อเตรียมความพร้อมเสร็จทุกขั้นตอน ก็ได้เวลาปล่อยบอลลูน สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชม ซึ่งขณะนี้มากันหนาตา เด็กๆ ต่างพากันกระโดดโลดเต้น ส่วนผู้ใหญ่บ้างก็ถ่ายรูป บ้างก็นั่งชมความงาม ในขณะที่ทีมบอลลูนต่างสาละวนอยู่กับการควบคุมทุกอย่างให้สมบูรณ์ที่สุด



และแล้วก็ได้เวลาของเรา บอลลูนลูกที่ 23 พองลมเต็มที่ เมื่อเห็นพี่ชายพ่นไฟ เพื่อให้ลมร้อนฉุดบอลลูนให้ตั้งขึ้น ประสบการณ์จากเมื่อเช้า สั่งรีบวิ่งลงตะกร้า แต่การขึ้นในเย็นวันนี้ไม่ราบรื่นเหมือนเช้า ตะกร้าเอียงและกระแทกเบาๆ สองสามครั้ง ทีมงานด้านล่างช่วยกันฉุดบอลลูนอย่างสุดแรง ร่วมกับฝีมือและประสบการณ์ของพี่ชาย นำเราขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย



บอลลูนขึ้นเร็ว และสูงมาก สูงขึ้น สูงขึ้น และสูงขึ้น จนอยู่ที่ระดับสูงสุดในชีวิต ที่เราเคยเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งที่น่าตื่นเต้น คือวิวที่มองได้ 360 องศา ตัวเราสัมผัสท้องฟ้า สูดอากาศเบื้องบนโดยไม่มีอะไรมากั้น พี่ชายบอกว่า เมื่อเช้าพาชมพระอาทิตย์ขึ้นไปแล้ว วันนี้เราจะบินดูพระอาทิตย์ตกดินกัน ในใจตอนนั้นรู้สึกพองโต และตื่นเต้น กับสิ่งที่พี่ชายพูด และบรรยากาศโดยรอบ โดยไม่ลืมที่จะเก็บภาพแบบพาโนราม่าบรรยากาศ ทั้งแบบธรรมดา และ 3D มาฝากกันด้วยค่ะ



พระอาทิตย์ยามห้าโมงเย็น แสงยังแรงจ้า ส่องให้ผืนน้ำด้านล่างเป็นสีส้มสด แม้พื้นดินตอนนี้จะถูกเคลือบด้วยหมอกหนา ทำให้ภาพขุ่นมัว แต่ก็ได้ภาพแปลกตากว่าที่เคยเห็น ชวนพี่ชายคุยไปเรื่อย ลดความกลัวความสูง ที่ครอบคลุมจิตใจ



จากที่รู้กันเมื่อตอนต้นแล้วว่า พี่ชายเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ เลยถามพี่ชายว่า ระหว่างการขับเฮลิคอปเตอร์ กับขับบอลลูนชอบอะไรมากกว่ากัน พี่ชายตอบมาว่า จริงๆ ก็ชอบทั้งสองอย่าง แต่การขับบอลลูนตื่นเต้นกว่า เพราะกำหนดอะไรไม่ได้เหมือนขับเครื่องบิน คำตอบของพี่ชาย ทำให้ตื่นเต้นกว่าเดิม



บอลลูนบินสูงจนเห็นเมืองพัทยาอยู่ลิบๆ ฉากหลังเป็นพระอาทิตย์สะท้อนผิวน้ำทะเล มองลงไปด้านล่างเป็นสนามพีระเซอร์กิต และถนนสาย 304 ที่ตอนนี้ดูเหมือนรถจะกลายเป็นมดที่กำลังวิ่ง สภาพภูมิประเทศมุมสูง คล้ายกำลังดูกูเกิ้ลเอิร์ทมองเห็นพื้นน้ำผืนป่าภูเขา ถนน ต่างกันที่การมองบนบอลลูนมีอาณาเขตที่มากกว่า เรามองเห็นดวงอาทิตย์ และเส้นขอบฟ้า บวกกับลมพัดเอยๆ พร้อมลมร้อนด้านบนจากที่ฉีดไฟ



ลมพัดบอลลูนลอยไปเรื่อยๆ ช้าๆ เลยถามพี่ชายว่า เรานั่งบอลลูนกลับกรุงเทพได้มั้ย พี่ชายบอกได้ถ้ามีเชื้อเพลิงเพียงพอ และกระแสลมพัดไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่สำหรับวันนี้ถ้าปล่อยลอยไปเรื่อยๆ จะไปออกเขมรมากกว่า เพราะบอลลูนไม่สามารถบังคับทิศทางได้ บอลลูนจึงไม่ได้มีประโยชน์ไว้เพื่อโดยสาร แต่เป็นกีฬา และสร้างความเพลิดเพลิน



พี่ชายเพิ่มระดับความสูงบอลลูน จนมองข้างล่างแทบจะไม่เห็น ลอยตามลมไปได้ซักพักเห็นบอลลูนลูกอื่นเริ่มลงกันแล้ว พี่ชายบอกว่าเราจะแลนด์ดิ้งที่เก่าที่พี่ชายลงเมื่อวันก่อน พร้อมวอบอกทีมงานซึ่งขับรถตามบอลลูนมา แต่พอลดระดับลงไปเรากลับเจอลานมันที่เสียบต้นมันไว้แล้ว พี่ชายจึงตัดสินใจนำบอลลูนขึ้นสูงอีกที เพื่อหาที่ลงใหม่ เพราะหากลงตรงนี้จะทำให้ลานมันของชาวบ้านเสียหาย



หลังจากเพิ่มความสูง บอลลูนลอยข้ามภูเขา มาพบกับลานมันโล่งๆ แต่ค่อนข้างแคบ พี่ชายบอกเราจะแลนดิ้งอีกครั้งให้พวกเราเตรียมตัว เก็บอุปกรณ์ทุกอย่าง แล้วก้มลงอยู่ในตะกร้า แอบโผล่หน้าขึ้นมาดูขณะบอลลูนกำลังลง เจอกองดินกองใหญ่ ที่มีต้นไม้ปกคลุมสูงประมาณ 3 เมตร พี่ชายบอกว่า เราจะเบรกที่ตรงนี้นะ ให้พวกเราเตรียมตัว เก็บตัวทั้งหมดอยู่ในตะกร้า บอลลูนลอยไปกระทบกองดินกองนั้น แล้วลอย ขึ้นอีกครั้ง ก่อนจะกระทบลานมัน เป้าหมายการลงจอด แต่ลมก็หอบบอลลูนขึ้นไปอีกครั้ง จนเกือบชนต้นมะพร้าว แต่โชคดีที่ทีมงานมาถึงเร็ว จึงจับเชือกบอลลูนไว้ทัน พากันดึงตะกร้าบอลลูนลงมาพื้นดิน ก่อนบอลลูนจะหมดฤทธิ์ ยอมรับว่าทั้งตื่นเต้นและดีใจ ที่อยู่พนพื้นดินอย่าสงปลอดภัย



เด็กๆ วิ่งกรูเข้ามาดูลูกบอลลูน ตื่นเต้นกับสิ่งประหลาดที่อยู่ตรงหน้า กว่าจะไล่ลมออกจากบอลลูนได้ พระอาทิตย์ก็ตกดินพอดี เลยได้ภาพพระอาทิตย์ตกที่ลานมัน ก่อนจะเก็บข้าวของขึ้นรถเพื่อกลับที่ปล่อยบอลลูน เพื่อชมการแสดงบอลลูนในช่วงค่ำคืน



ระยะทางจากที่ที่บอลลูนลงจอดไม่ไกลจากงานมากนัก จึงกลับมาทันแสงทไวไลท์พอดี เมื่อถึงงานบอลลูนแฟนซี ถูกเตรียมพร้อมขึ้นบินเรียบร้อย ทั้งรูปกางเกงยีน ต้นไม้ หมู แต่ว่าผูกเชือกไว้สำหรับโชว์เท่านั้น



เก็บภาพบอลลูนยามค่ำคืนจนฟ้ามืดสนิท ก่อนจะมานั่งบนกองฟาง ที่จัดไว้สำหรับนักท่องเที่ยว รอชมการแสดงบอลลูนไฟ ไฮไลท์ของงานยามค่ำคืน ได้ยินเสียงทีมงานคุยกันว่าการขึ้นบอลลูนแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายถึง 1 หมื่นบาท เพราะบอลลูนอายุการใช้งานสั้น จึงต้องคิดค่าเสื่อมของบอลลูนด้วย



และในที่สุด การแสดงรอบสุดท้ายของทริปการเที่ยวบอลลูนในครั้งนี้ก็เริ่มขึ้น บอลลูนฉีดไฟพร้อมๆ ตามจังหวะเพลง เป็นที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับนักท่องเที่ยว และผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ เป็นเวลาเกือบสิบนาที จุใจผู้ชมกันไปเลยค่ะ



เมื่อไฟของบอลลูนดับ นั่นหมายถึงการปิดทริปเที่ยวชมบอลลูน การมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกครั้งที่ประทับใจ ได้ชมทั้งพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก บนบอลลูน เป็นประสบการณ์แสนพิเศษ ที่จะถูกบันทึกไว้ในความทรงจำ รวมทั้งภาพถ่ายที่ได้จากกล้อง SONY ALPHA A55 จะช่วยเตือน และย้ำความประทับใจ เมื่อได้กลับมาดูรูปภาพอีกครั้ง

 

บทสัมภาษณ์ช่างภาพวีดีโอ ของทริปนี้

สิ่งที่ผมชอบในกล้อง Sony Alpha A55 สำหรับการถ่ายวีดีโอ คือขนาดที่เล็ก น้ำหนักเบา ง่ายและไม่เป็นภาระในการพกพา และด้วยคุณสมบัติเด่นของเทคโนโลยี translucent mirror ที่ยังแบ่งแสงไปยังหน่วยออโต้โฟกัสทำให้การบันทึกภาพเคลื่อนไหว สามารถใช้ Quick AF Live View ได้ตลอดเวลา จึงโฟกัสได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยเฉพาะวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวแบบต่อเนื่อง แต่ข้อเสียของการใช้กล้อง DSLR ถ่ายวีดีโอ คือปัญหาความร้อนสูง ทำให้กล้องตัดการทำงาน ควรถ่าย ช็อตละไม่เกิน 7 นาที แล้วพักกล้อง โดยกล้องจะทำการเตือนว่ากล้องเริ่มความร้อนสูง ให้พักกล้อง ส่วนในเรื่องไมค์ และระบบกันสั่น ดีกว่ากล้องถ่ายภาพนิ่งที่สามารถถ่ายวีดีโอได้ แต่คงไม่สามารถไปเทียบกับกล้องถ่ายวีดีโอโดยเฉพาะได้ครับ อีกเรื่องก็คือการถ่ายวีดีโอในที่แสงน้อย ซึ่งจะเกิดเกรนเยอะมากกว่ากล้องวีดีโอทั่วไป


 

สรุป

การได้กล้อง SONY ALPHA A55 บันทึกภาพความทรงจำอันแสนประทับใจ ด้วยเซ็นเซอร์แบบ APS-C Exmor HD CMOS ความละเอียดการใช้งานถึง 16.2 ล้านพิกเซล สามารถอัดขยายรูปใหญ่มากๆ ที่คุณภาพรูปสูงที่สุด และไม่มีปัญหาเมื่อเจอที่แสงน้อย อย่างการถ่ายบอลลูนในเวลากลางคืน สัญญาณรบกวนต่ำ สีอิ่มคุณภาพดี ได้ถึง ความไวแสง 1600 สิ่งที่ประทับใจสำหรับกล้องตัวนี้ ด้วยเทคโนโลยี translucent mirror ทำให้กล้อง SONY ALPHA A55 มีความรวดเร็วและความแม่นยำของการโฟกัส แม้จะถ่ายวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว รวมไปถึงการถ่ายภาพ ที่ถ่ายได้ถึง 10 เฟรมต่อวินาที ความรวดเร็วและแม่นยำไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการถ่ายภาพนิ่ง แต่ยังครอบคลุมไปถึงการถ่ายภาพเคลื่อนไหว ด้วย Quick AF Full HD ออโต้โฟกัสอย่างรวดเร็ว แม้วัตถุหรือตัวแบบที่ถ่ายจะไม่หยุดนิ่ง ช่องมองแบบ EVF ช่องมองภาพเสมือนจริง ทำงานแบบ Real Time

นอกจากนี้ยังเพิ่มโหมดถ่ายภาพพิเศษ อย่างการถ่ายภาพพาโนราม่า ทั้งแบบธรรมดาและ 3D การถ่ายภาพแบบ HDR โหมด Hand held Twilight และด้วยจอ LCD ความละเอียดสูง 1,150,000 Pixel สีสันสดใส ปรับหมุนได้รอบทิศทาง ที่นอกจากปรับองศาถ่ายภาพได้อย่างอิสระแล้ว ยังสามารถหมุนพับเก็บเพื่อกันรอยขุดขีดได้ และมี GPS เป็นตัวบอกพิกัด เมื่อถ่ายภาพ สำหรับการใช้งานจริง แรกๆ สำหรับคนที่เคยใช้กล้อง DSLR อยู่แล้วอาจไม่ถนัดนัก มีความแตกต่างในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการมองผ่านช่องมอง EVF หรือการออโต้โฟกัส ที่รวดเร็วกว่าที่เคยสัมผัส อาจทำให้รู้สึกว่าใช้งานยาก แต่เมื่อชินกับกล้องแล้ว ระบบที่ให้มา ช่วยให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ในจุดนี้ เป็นข้อดีสำหรับมือใหม่ ที่เพิ่งขยับมาเล่นกล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้

 

ข้อดี
- พาโนราม่าในช็อตเดียว ได้ทั้งแบบ ธรรมดา และ 3D
- การจัดการน้อยส์ได้ดีในที่แสงน้อย
- ระบบกันสั่นในตัวกล้อง SteadyShot INSIDE ไม่ว่าจะใช้กับเลนส์อะไรก็มีกันสั่น
- โหมด Hand held Twilight ช่วยให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยง่ายขึ้นไปอีก
- ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องได้ถึง 10 เฟรม ต่อวินาที
- ปรับตั้งไดนามิกเรนจ์ได้ หรือจะต้องเป็น HDR ออโต้
- การค้นหาใบหน้า และการลั่นชัตเตอร์ด้วยรอยยิ้ม
- จอ LCD ความละเอียดสูง 1,150,000 จุด Pixel ปรับพับหมุนได้อิสระรอบทิศทาง ทำให้สามารถหมุนพับเก็บจอ LCD เข้าด้านในตัวกล้องได้
- มี GPS ในตัว
- การถ่ายภาพเคลื่อนไหว Quick AF Full HD / AVCHD


ข้อเสีย
- ถ่ายภาพเคลื่อนไหวห้ามเกิน 7 นาที ไม่เช่นนั้นกล้องจะฮีท
- เทคโนโลยีใหม่อาจทำให้ผู้ที่ไม่เคยชินใช้งานยาก
- ถ่านติดกล้องถ่ายได้น้อย ควรซื้อสำรอง อีก 1 ก้อน

 

ขอขอบคุณที่มาจาก
บริษัทโซนี่ไทย

Back to top