Thailand English
 
Thailand English

 

 

เทศกาลถ่ายดอกไม้ ยังไงให้สวยกว่าตาเห็น

ปีหนึ่งมีหนเดียว!!!! ถึงเวลาแล้วกับเทศกาลชมดอกไม้ ทุกๆ ปีตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน มีหลายโลเกชั่นที่ดอกไม้จะผลิดอกบานสะพรั่งให้เราได้ชมความสวยงาม อย่างช่วงนี้ก็จะมีชมพูพันธุ์ทิพย์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน หรือดอกซากุระ ที่หลายคนชื่นชอบในญี่ปุ่น หรือในประเทศไต้หวันก็มี แต่อย่าชมเพลินจนลืมเก็บภาพแห่งความประทับใจนี้กันไว้ ได้เวลาที่เราจะคว้ากล้องคู่ใจออกไปถ่ายภาพกันแล้ว และนี่คือเทคนิคถ่ายรูปเพื่อให้ได้ภาพดอกไม้ที่สวยกว่าตาเห็น

 

เจาะ Macro เห็นหมดทุกรูขุมขน

Cr. Kat Jayne from Pexels

เพราะซากุระหรือดอกไม้อื่นๆ นั้นมักมีขนาดเล็ก ถ้าอยากถ่ายเจาะให้เห็นรายละเอียดเล็กๆ อันน่าทึ่งที่ตาเปล่ามองไม่เห็น อย่างเกสร ก็ให้พกเลนส์ Macro ไปถ่ายด้วย เพราะเลนส์ประเภทนี้มีอัตราการขยายภาพสูงมาก ส่วนการจัดองค์ประกอบภาพนั้น ถ้าถ่ายจากด้านหน้า อาจจะเห็นกลีบดอกไม้ไม่ครบ ดังนั้นให้ถ่ายจากมุมสูง เพื่อเก็บดอกไม้ให้ครบทุกกลีบ ส่วนฉากหลังก็ให้คลีนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต่อมาที่เราต้องทำก็แค่เซ็ทโฟกัสเป็น single-point AF หรือ spot AF เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ คมชัด ไม่หลุดโฟกัส ปกติเราก็จะเลือกตำแหน่งโฟกัสที่เกสร แต่ถ้าเราตั้งค่ารูรับแสงกว้างๆ กลีบดอกไม้ก็มีโอกาสสูงที่จะเบลอได้ ให้เปลี่ยนมาใช้รูรับแสงแคบๆ อย่าง F8 อย่าลืมว่าสภาพอากาศและสภาพแสงของแต่ละช่วงเวลามีผลต่อภาพของเราแน่นอน ยิ่งถ่ายช่วงเช้าหรือหลังฝนตก ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะได้ภาพดอกไม้ที่มีหยดน้ำ เสริมความสวยงามขึ้นไปอีก

Cr.Chau Ka Wai

 

ถ่ายมุมกว้าง มีเสน่ห์ไปอีกแบบ

Cr. Karl Fredrickson on Unsplash

แน่นอนว่าภาพดอกซากุระที่เรียงตามทิวแถวท้องถนนทั้งสองข้างทางเป็นระยะทางไกลๆ คือสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวประทับใจมากๆ จนถึงขนาดอยากบินไปเก็บภาพไกลถึงประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นอาวุธคู่ใจที่เราต้องนำไปด้วย คือเลนส์มุมกว้างมากๆ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราเก็บรายละเอียดได้มากๆ หรือถ้าใครไม่มีเลนส์มุมกว้าง มีแค่เลนส์ normal ธรรมดาๆ ก็ให้เปิดระยะเลขน้อยๆ เพื่อเก็บรายละเอียดในภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ไปเลย ส่วนการจัดองค์ประกอบภาพ นอกเหนือจากถ่ายซากุระที่เรียงรายตามสองข้างทางแล้ว ก็ให้พยายามมองหาวัตถุที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์หรือวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ดู อย่าง ผู้คน รถไฟ รถยนต์ ที่จะมาอยู่ตรงกลางเฟรมภาพได้ หรือจะใช้ตัวดอกไม้ตีกรอบเฟรมภาพ เน้นตัวแบบอื่นก็สวยไปอีกแบบ ส่วนการตั้งค่ารูรับแสงก็เช่นเดิม ให้ใช้รูรับแสงแคบๆ อย่าง F8 เพื่อให้ภาพของเรามีระยะชัดลึก และพกฟิลเตอร์ CPL ติดกระเป๋าไปด้วยก็ดี ซึ่งเราจะใช้ฟิลเตอร์ เพื่อให้ได้สีของท้องฟ้าอิ่มตัวมากขึ้น สีเข้มขึ้น แค่นี้เราก็จะได้ภาพท้องฟ้าสีน้ำเงินตัดกับดอกไม้สีชมพูแล้ว

Photo by kazuend on Unsplash

Photo by Sora Sagano on Unsplash

Photo by JJ Ying on Unsplash

 

เปิดรูรับแสงให้กว้าง เบลอฉากหลังออกไป

Photo by Shawnn Tan on Unsplash

เราควรหาเลนส์สุดคุ้มครอบจักรวาลมีทางยาวโฟกัสครอบคลุมทุกระยะการถ่ายภาพ พกไปถ่ายซากุระด้วยจะดีกว่า อย่างเลนส์ telephoto 70-200mm หรือ 70-300mm จะสามารถใช้งานได้อเนกประสงค์มากกว่า ไม่ว่าจะใช้ถ่าย Portrait หรือเน้นนเฉพาะดอกซากุระอย่างเดียว โดยการซูมเข้าไปจนเต็มเฟรมภาพ เปิดรูรับแสงกว้างให้สุด เพื่อให้ฉากหลังหลุดโฟกัส แนะนำว่าจัดองค์ประกอบภาพแบบสัดส่วนทองคำหรือ Golden Ratio จะดีกว่า วางซากุระไว้ด้านซ้ายหรือด้านขวาของเฟรมภาพดู

ส่วนระยะห่างระหว่างตัวแบบกับฉากหลัง ก็ไม่ควรมองข้าม ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆ เลยที่จะได้ฉากหลังเบลอๆ

Cr. shell_ghostcage on Pixabay

 

เพิ่มคนเข้าไปในภาพ

Photo by Karl Fredrickson on Unsplash

การถ่ายดอกซากุระก็เหมือนภาพแนวอื่นๆ ที่ต้องร่วม Portrait เข้าไปด้วย โดยการเพิ่มองค์ประกอบอย่างตัวแบบหลักๆ เข้าไป นั่นก็คือ คน เพื่อบอกเล่าเรื่องราว สื่อความรู้สึกที่ได้สัมผัสความสวยงามของธรรมชาติ แต่เมื่อตัวแบบมีการเคลื่อนไหว ถ้าเราใช้โหมด Manual ก็อย่าลืมตั้งสปีดชัตเตอร์สูงๆ ไม่ให้คนเบลอนั่นเอง ยกตัวอย่างถ้าเราใช้เลนส์ที่มีทางยาว 200mm สปีดชัตเตอร์ก็ไม่ควรใช้ต่ำกว่า 1/200 หรือสูงกว่านั้นก็ได้ ภาพแนวนี้เราสามารถใช้เลนส์ telephoto เพราะเลนส์ระยะนี้จะช่วยบีบองค์ประกอบทุกอย่างเข้าไว้ในเฟรมภาพเดียวกัน ส่วนฉากหลังก็ให้เป็นดอกไม้ให้ดูอลังการ ข้อควรระวังหนึ่งที่สำคัญมากๆ ควรเคารพกฎ แนะนำว่าไม่ควรไปโน้มกิ่งไม้ หรือจับดอกไม้จนเกิดความเสียหาย

 

ถ่ายกลางคืนก็โดดเด่น

Cr. TSUI SHI KI

อย่ามัวถ่ายซากุระหรือดอกไม้กันแค่ในตอนวัน เปลี่ยนไปถ่ายซากุระตอนกลางคืนก็โดดเด่นไปอีกแบบ แต่อาจซับซ้อนและยากในการเก็บภาพกว่าตอนกลางวัน ก่อนอื่นต้องมองหาแหล่งกำเนิดแสง เพราะแหล่งกำเนิดแสงในตอนกลางคืนจะน้อยกว่าตอนกลางวัน ดังนั้นควรดัน ISO หรือค่าความไวแสงขึ้น อย่าง 1600 หรือสูงกว่านั้น เพื่อให้ภาพออกมาชัดเจน ส่วนเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆ พร้อมระบบกันสั่น จะทำให้ชีวิตเราง่ายมากขึ้น และรูรับแสงกว้างๆ นั้นก็จะช่วยละลายฉากหลัง ได้โบเก้ง่ายๆ และอย่าลืมพกขาตั้งกล้องไปด้วย เพื่อให้กล้องมั่นคงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเราอาจต้องเปิดสปีดชัตเตอร์นานๆ เพื่อให้แสงเข้ามาในกล้องได้มากขึ้น แทนการตั้งค่า ISO สูงๆ ที่ทำให้เกิด noise ได้

Cr jamie_nakamura on Pixabay

via canon.com.hkpopphoto.com

Back to top