Thailand English
 
Thailand English

 

 

Olympus E-PL2

Olympus E-PL2

 

 

          กล้องในรูปแบบที่ไม่ใช้กระจกสะท้อนภาพ สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เหมือนกล้อง DSLR ที่เรียกกันว่ากล้อง “Mirrorless” นั้นได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก หลังจากที่โอลิมปัสออกกล้องรุ่น PEN E-P1 ซึ่งเป็นกล้องรูปแบบนี้รุ่นแรกของโอลิมปัส (แต่ไม่ใช่รุ่นแรกของโลก) โดยใช้ชื่อเรียกกันว่ากล้อง Micro Four Thirds หลังจากนั้นก็มีรุ่น E-P2 ตามมาอีกในระยะเวลาห่างกันไม่นาน กล้องทั้ง 2 รุ่นนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้ โดยเฉพาะรุ่น E-P1 เรียกว่าเป็นกระแสกล้องแนวใหม่ที่มาแรงมากๆ ทำให้มีผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพอีกอย่างน้อย 2 รายต้องผลิตกล้องในรูปแบบนี้ออกสู่ตลาดด้วยเช่นกัน

          โอลิมปัสผลิตกล้องในรูปแบบ “Mirrorless” นี้มาแล้ว 3 รุ่น คือ E-P1, E-P2 และ E-PL1 โดยทางโอลิมปัสวางระดับของกล้องให้รุ่น E-P1 และ E-P2 อยู่ในกลุ่มของกล้องระดับสูง และวางระดับของ E-PL1 ให้เป็นกล้องในระดับรองลงมา มีราคาจำหน่ายย่อมเยากว่า แต่ก็ยังคงรูปแบบและสไตล์การออกแบบของตัวกล้องที่อิงจากรูปแบบของกล้อง PEN ตัวดังในอดีตไว้อย่างเหนียวแน่น ล่าสุด...โอลิมปัสขยับไปอีกก้าวของการพัฒนากล้อง “Mirrorless” ด้วยการออกกล้องรุ่นใหม่มาอีก 1 รุ่นคือ PEN E-PL2 ซึ่งถึงแม้ชื่อรุ่นจะเรียงตามกันมา แต่ข่าวที่ออกมาระบุว่ารุ่น E-PL2 ไม่ได้ออกมาแทนรุ่น E-PL1 แต่ถูกวางระดับให้อยู่สูงกว่า (อยู่ระหว่างรุ่น E-P2 กับ E-PL1) แม้ว่าจะใช้เซ็นเซอร์ภาพความละเอียดเท่ากันก็ตาม แต่การออกแบบและระบบการทำงานอื่นๆ ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้มากยิ่งขึ้น และมาพร้อมกับเลนส์ในชุด Kit ตัวใหม่ที่ออกแบบใหม่คือ M Zuiko Digital ED 14-42mm f/3.5-5.6 II MSC โดยมีคุณภาพดีกว่าเดิม มีการใช้ชิ้นเลนส์แอสเฟอริคัลมากกว่าเดิม (มี 3 ชิ้น) ระบบกลไกการซูมและการโฟกัสทำได้อย่างนิ่มนวลจนต้องทึ่ง ในขณะที่น้ำหนักเบากว่าเลนส์ตัวก่อนถึงราว 25% โดยทางโอลิมปัสระบุมาว่าเลนส์รุ่นใหม่นี้ทั้งโฟกัสได้เร็วและเงียบกว่า นอกจากนี้ยังสามารถที่จะแบ่งปันภาพถ่ายผ่าน Olympus PENPAL Bluetooth ได้จากตัวกล้อง (ติดอุปกรณ์เสริม) เพียงเท่านี้ก้นับว่าเป็นกล้องที่ทันสมัยและน่าสนใจไม่น้อยแล้วล่ะครับ โดยเฉพาะแฟนๆ ของโอลิมปัส

การออกแบบ

          E-PL2 ออกแบบรูปร่างหน้าตาภายนอกใหม่ได้อย่างแตกต่างจากรุ่น E-PL1 ชนิดแทบจะเป็นกล้องต่างซีรี่ส์กันเลย ตัว E-PL2 นี้มองดูแล้วทั้งทันสมัยและสวยงามกว่ามาก หน้าตาจะออกไปทางรุ่น E-P2 แต่มีขนาดตัวกล้องที่เล็กกะทัดรัดกว่า โดยส่วนกว้างจะไม่มากเหมือน E-P2 แต่ยังคงเอกลักษณ์ของสโลปทางด้านบนขวาไว้ ทำให้มองเพียงแว๊บเดียวก็รู้ว่านี่คือกล้องจากโอลิมปัส และมันคือกล้อง PEN

          ตัวกริปจับออกแบบใหม่ได้อย่างสวยงาม ไม่หนาเทอะทะเหมือนรุ่น E-PL1 และมีส่วนลาดเอียงเพื่อให้รับกับแนวนิ้วมือเมื่อจับถือกล้องได้อย่างกระชับมากยิ่งขึ้น บนตัวกริปหุ้มด้วยยางลายหนังสวยงามทีเดียวล่ะครับ โดยเฉพาะบอดี้สีขาวจะเป็นยางสีเบจ คลาสสิคและดูหรูมาก แปลนเมาท์เลนส์เป็นโลหะเมาท์ Micro Four Thirds โดยรอบแปลนเมาท์เลนส์ โอลิมปัสยังคงทำวงโดยรอบชุบโครเมี่ยมมาอีกชั้นทำให้เมาท์เลนส์ดูใหญ่มากขึ้น แต่ส่วนพื้นที่แปลนเมาท์เลนส์จริงจะเล็กลงไปหน่อยคือพอดีกับเมาท์ของเลนส์นั่นเอง แต่หากมองที่บอดี้อย่างเดียว ไม่ติดเลนส์ อาจจะเห็นว่าเมาท์เลนส์ค่อนข้างใหญ่

          ด้านบนทางขวาลาดเอียงเล็กน้อย หากเทียบกับรุ่นก่อนๆ หน้าจะเป็นแนวระนาบตรงทั้งหมด ส่วนนี้จะเป็นปุ่มชัตเตอร์ แป้นโหมด และก็ปุ่มเปิดปิดการทำงานที่ออกแบบได้กลมกลืนกับบอดี้มากๆ ตรงกลางเป็นฮอทชูแฟลช ใช้สำหรับติดแฟลชภายนอกหรือติดอุปกรณ์เสริมได้อีกหลายอย่างทั้งช่องมองภาพ, ชุดแฟลชมาโคร, Olympus PENPAL Bluetooth และอแดปเตอร์ไมโครโฟนภายนอก เป็นต้น ส่วนแฟลชในตัวเป็นแบบป๊อปอัพอยู่ทางริมซ้ายสุด การเปิดแฟลชในตัวใช้แกนผลักแบบกลไกธรรมดา (อยู่ทางด้านหลัง) ตัวแฟลชยกตัวได้สูงพอตัวทีเดียวเพราะใช้ระบบการยกตัวแบบ 2 ระดับด้วยแกนพับคล้ายๆ กับแฟลชป๊อปอัพที่ใช้ในกล้อง DSLR เมื่อไม่ต้องการใช้แฟลชก็ให้กดแฟลชลงมาธรรมดา ง่ายๆ ซึ่งตอนกดลงจะรู้ได้ถึงน้ำหนักของการกดแฟลชที่ต้องออกแรงมากกว่ากล้องทั่วไปพอสมควร

          ด้านหลังไม่มีส่วนคล้ายรุ่น E-PL1 เลย เพราะไปคล้ายรุ่น E-P2 มากกว่า จอมอนิเตอร์เปลี่ยนมาใช้ขนาด 3 นิ้ว อัตราส่วนของจอมอนิเตอร์ 3 : 2 เป็นจอ LCD สีชนิด TFT ความละเอียด 460,000 จุดโดยประมาณ ให้ความคมชัดและคอนทราสต์ดี ตัวบอดี้ทางด้านหลังมีส่วนลาดเอียงและสโลปเหมือนทางด้านหน้าและมีสันนูนริมขอบบอดี้ทางขวาหลังเพื่อรองรับนิ้วหัวแม่มือขวาเมื่อจับกล้องใช้งาน ช่วยเพิ่มความกระชับเหมาะมือได้อย่างลงตัว ปุ่มต่างๆ เป็นปุ่มวงกลม วางเรียงลงมาทางด้านขวาของจอ LCD มีปุ่มบันทึกวิดีโอแยกออกมาต่างหาก ปุ่มต่างๆ สกรีนบอกการทำงานไว้ชัดเจนโดยใช้รูปสัญลักษณ์และสีที่ต่างกันบอกการทำงานในโหมดถ่ายภาพหรือการเล่นภาพกลับ (Playback) แป้น Arrow Pad Control หรือแป้น 4 ทิศทาง ด้านหลังสามารถหมุนได้รอบเพราะใช้เป็นแป้นปรับข้อมูลด้วย ให้ทั้งความสะดวกในการใช้งานและประหยัดพื้นที่ในการวางแป้นปรับ และทั้ง 4 ทิศทางสามารถกดเพื่อเข้าโหมดหรือฟังก์ชั่นได้ทั้งหมด โดยมีปุ่ม OK อยู่ตรงกลาง และกดปุ่มนี้เพื่อเข้าสู่การปรับข้อมูลโดยตรงจากจอ LCD ในแบบ Live Control หรือจะใช้แบบ Super Control Panel แบบกล้อง DSLR ก็ได้โดยกดปุ่ม OK > Info

          ช่องเชื่อมต่อต่างๆ อยู่ทางด้านข้างขวาของบอดี้มีช่อง USB, A/V Out และ HDMI ปิดด้วยแผ่นยางปั๊มรูปสัญลักษณ์ของช่องเชื่อมต่อไว้อย่างชัดเจน การ์ดบันทึกภาพใช้การ์ด SD มีช่องใส่อยู่ด้านล่างบอดี้ รองรับการ์ด SDHC และ SDXC ที่ใหม่อีกอย่างคือใช้แบตเตอรี่ลิเธียมรุ่นใหม่ BLS-5 ซึ่งถ้าเทียบกับตัวบอดี้แล้วต้องถือว่าเป็นการใช้แบตเตอรี่ก้อนใหญ่พอตัวทีเดียว จึงน่าจะสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นาน เพราะกล้องรูปแบบนี้ต้องเปิดจอมอนิเตอร์ตลอดเวลาในการถ่ายภาพ (หากไม่ใช้ช่องมองภาพ)

 

คุณสมบัติเด่นหลักของ PEN E-PL2


เซ็นเซอร์ภาพ 4/3 Live MOS 12.3 ล้านพิกเซล

          E-PL2 ใช้เซ็นเซอร์ภาพ Live MOS ขนาดใหญ่ซึ่งทางโอลิมปัสระบุว่าเป็นเซ็นเซอร์ภาพขนาดเดียวกับที่ใช้ในรุ่น E-30 และ E-620 ซึ่งเป็นกล้อง DSLR แต่มีข้อได้เปรียบที่ขนาดของบอดี้ E-PL2 เล็กกว่าความละเอียดของเซ็นเซอร์ภาพ 12.3 ล้านพิกเซล (แสดงผล) ให้ช่วงไดนามิกที่กว้างขึ้น รับแสงได้มากกว่าเซ็นเซอร์ภาพที่ใช้นกล้องคอมแพ็ค ส่งผลให้การเก็บรายละเอียดและการถ่ายทอดสีทำได้ดีกว่าทั้งในส่วนสว่างและส่วนมืดของภาพ รวมทั้งยังลดการเกิด Noise ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          E-PL2 เป็นกล้อง Micro Four Thirds จึงให้อัตราส่วนภาพ 4 : 3 เป็นมาตรฐาน (ทางยาวโฟกัสของเลนส์เมื่อเทียบกับขนาดของกล้องฟิล์ม 35 มม เพิ่มขึ้น 2 เท่าหรือ 2X) แต่ก็สามารถปรับเป็นอัตราส่วนภาพขนาด 3 : 2 และขนาดอื่นๆ ได้ทั้ง 16 : 9 และ 6 : 6 ให้ขนาดไฟล์ภาพใหญ่สุดที่ 4032 x 3024 พิกเซล บันทึกภาพได้ทั้งในฟอร์แมท RAW, JPEG 4 ระดับ จาก Super Fine, Fine, Normal, Basic และ RAW+JPEG ได้ทุกขนาดของไฟล์ JPEG รวมทั้งยังปรับเลือกพิกเซลในขนาดไฟล์ภาพในขนาด M (Middle) และ S (Small) ได้ด้วย ซึ่งถือว่าให้ความยืดหยุ่นในการใช้งานได้มาก อัตราการบีบอัดข้อมูลคือจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของกล้องจากโอลิมปัสเพราะเริ่มที่ 1/2.7, 1/4, 1/8, 1/16 ตามลำดับ คุณภาพที่ JPEG Super Fine จึงได้เปรียบกว่าเพราะมีอัตราการบีบอัดข้อมูลน้อย

          ความไวแสงเริ่มต้นที่ ISO 200 ปรับสูงสุดต่อเนื่องได้ถึง ISO 6400 และ Auto โดยความไวแสงแบบออโต้นั้นสามารถกำหนดความไวแสงสูงสุดได้จาก ISO 200-6400

          ใช้ระบบประมวลผล TRUEPIC V IMAGE PROCESSOR ให้รายละเอียดที่ดีขึ้น เก็บรายละเอียดในส่วนสว่างและส่วนเงาได้ดีกว่า ถ่ายทอดสีได้ตรงและลดการเกิด Noise ได้ดียิ่งขึ้นแม้ใช้งานที่ความไวแสงสูงถึง ISO 3200


บันทึกภาพวิดีโอความละเอียดสูงระดับ HD

          E-PL2 สามารถบันทึกไฟล์วิดีโอหรือ Movie ได้ในระดับความละเอียด HD1280 x 720 (อัตราส่วนภาพ 16 : 9) และเลือกขนาดมาตรฐานหรือ SD 4 : 3 คือ 640 x 480 การบันทึกภาพทำได้สะดวกด้วยปุ่มบันทึกไฟล์วิดีโอแยกต่างหากที่อยู่ทางด้านหลังตัวกล้องบันทึกด้วยอัตราความเร็ว 30 เฟรมต่อวินาที ให้การเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลเป็นธรรมชาติ บันทึกได้นานสูงสุด 7 นาที ในระดับ HD และ 14 นาที ในระดับ SD สามารถเลือกโหมดในการบันทึกภาพได้ทั้ง P, A, M และ Art Filter ทั้ง 6 แบบ จึงให้การควบคุมได้อิสระมากกว่ารวมถึงการเลือกความไวแสงได้ในโหมด M จาก ISO 400-1600 และหากต้องการบันทึกภาพนิ่งไปพร้อมกันทำได้โดยกดปุ่มชัตเตอร์ กล้องจะบันทึกภาพนิ่งและกลับมาบันทึกไฟล์วิดีโอต่อให้โดยอัตโนมัติ (แต่แยกเป็น 2 ไฟล์) สามารถบันทึกภาพพร้อมเสียงหรือจะเลือกไม่บันทึกเสียงก็ได้ รวมทั้งการใช้ปุ่มชัตเตอร์ในการบันทึกไฟล์วิดีโอก็ได้ในกรณีที่มีการ Assign ปุ่มบันทึกไฟล์วิดีโอให้ทำหน้าที่อื่น


FACE DETECTION WITH EYE DETECT AF

          การโฟกัสแบบตรวจจับใบหน้าแบบใหม่ใน E-PL2 ก้าวหน้าไปอีกระดับ และเพิ่มความแม่นยำมากยิ่งขึ้นด้วยการจับโฟกัสที่ดวงตาของใบหน้าเมื่อถ่ายภาพพอร์ตเทรตให้โดยอัตโนมัติจึงมั่นใจได้ว่าจะได้ภาพใบหน้าที่คมชัดที่ดวงตาอย่างแท้จริงแม้ว่าจะใช้รูรับแสงกว้าง


เอฟเฟ็คท์ ART Filter ในตัว 6 แบบ พร้อมออปชั่นให้เลือกปรับได้



          Art Filter คือจุดเด่นที่โอลิมปัสนำมาใช้กับกล้องในหลายๆ รุ่น และได้รับความนิยมอย่างสูงเพราะนอกจากจะช่วยให้การถ่ายภาพให้มีเอฟเฟ็คแบบแปลกๆ ทำได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้การถ่ายภาพสนุกมากยิ่งขึ้นด้วย และใน E-PL2 ก็ได้นำ Art Filter บรรจุมาด้วยถึง 6 แบบ แต่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมให้ Art Filter 4 แบบ (จาก 6 แบบ) สามารถปรับรูปแบบหรือเอฟเฟ็คท์ของ Art Filter ได้อีกตามแต่ผู้ใช้ต้องการคือมีออปชั่นให้เลือกเพิ่มเติม โดย Art Filter 4 แบบ ที่มีออปชั่นให้เลือกปรับได้อีกมี Pop Art (2 ชนิด), Grainy Film (2 ชนิด), Pin Hole (3 ชนิด) และ Art Filter ใหม่ Dramatic Tone (2 ชนิด) ส่วน Diorama กับ Soft Focus ยังไม่มีออปชั่นให้เลือกปรับเพิ่มเติม

          นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายภาพซ้อนได้ 2 ภาพ (เฉพาะในโหมด P, A, S, M) จะเลือกถ่ายภาพซ้อนทันทีหรือใช้แบบ Image Overlay ไปซ้อนภาพในภายหลังก็ได้ (เฉพาะไฟล์ RAW) ซึ่งสามารถทำได้จากตัวกล้องเช่นกัน


ใหม่ ! LIVE GUIDE ทั้งสำหรับการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ

          เมื่อใช้โหมด iAUTO จะมี Live Guide หรือการปรับตั้งแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนสี ปรับความสว่าง ปรับโทนสีเย็นหรืออุ่น เบลอฉากหลัง จับภาพเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งหรือเบลอ พร้อม Shooting Tips สำหรับการถ่ายภาพหลายแบบโดยมีตัวอย่างภาพให้ดูและเห็นผลบนจอมอนิเตอร์ก่อนการถ่ายภาพ (จึงเรียกว่า Live Guide) ซึ่งในโหมด iAUTO นี้สามารถใช้กับการบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอได้ โดยการทำงานจะเป็นแบบอัตโนมัติแต่ผลของภาพจะเป็นไปตามที่เลือกปรับจาก Live Guide


อุปกรณ์เสริมใหม่ทั้ง Conversion Lens, Macro Arm Light และ PENPAL Bluetooth



          E-PL2 มีอุปกรณ์เสริมใหม่ให้ใช้ร่วมได้อีก 5 ชนิด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความทันสมัยให้กับตัวกล้องได้ตามที่ผู้ใช้ต้องการ โดยมี Conversion Lens ให้ใช้ 3 แบบ ตั้งแต่ เลนส์ฟิชอาย, เลนส์มุมกว้างและมาโคร เป็น Conversion Lens แบบสวมต่อทางด้านหน้าได้เลย ให้ความสะดวกและง่ายในการใช้งาน (แต่ต้องต่ออแดปเตอร์หน้าเลนส์ก่อน) อุปกรณ์เสริมอีกตัวคือ Macro Arm Light ไม่ใช่แฟลชแต่เป็นไฟส่องสว่างขนาดเล็กสำหรับงานมาโคร และตัวสุดท้ายคือ PENPAL Bluetooth ใช้สำหรับแบ่งปันภาพถ่ายซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในเมนูกล้องแต่ต้องติดอุปกรณ์เสริมนี้ที่ตัวกล้องก่อนเมนูถึงจะเลือกใช้งานได้ครบถ้วน


ระบบลดการสั่นไหวในตัวกล้อง

          ระบบ IS หรือ Image Stabilization ใน E-PL2 สามารถใช้ได้ทั้งกับภาพนิ่งและภาพไฟล์วิดีโอ มีให้เลือกใช้งาน 3 โหมด โดยโหมด 1 สำหรับการใช้งานทั่วไป โหมด 2 สำหรับการแพนกล้องในแนวนอน และโหมด 3 สำหรับการแพนกล้องในแนวตั้ง ทั้ง 3 โหมดสามารถลดการสั่นไหวได้ถึง 3 สตอป สำหรับภาพนิ่ง ส่วนในโหมดถ่ายภาพวิดีโอ ระบบ Advanced Electronic IS ในตัวกล้องจะตรวจการสั่นไหวทั้งในแนวตั้งและแนวนอน และชดเชยการสั่นไหวให้เหมาะสมกับระบบ IS ในตัวกล้องให้โดยอัตโนมัติ ระบบลดการสั่นไหวสามารถที่จะปิดไม่ใช้งานก็ได้ และในกรณีที่ไม่ได้ใช้กับเลนส์ Micro 4/3 หรือ 4/3 สามารถกำหนดทางยาวโฟกัสเป็นข้อมูลให้กับกล้องได้จาก 8 – 1000 มม. เพื่อให้กล้องทำการชดเชยการสั่นไหวที่เหมาะสมให้ได้


แฟลช Pop – Up ในตัวและใช้แฟลชภายนอกได้

          E-PL2 มีทั้งแฟลชในตัวแบบ Pop – Up ไกด์นัมเบอร์ 10 (เมตร / ISO 200) และฮอทชูสำหรับใช้แฟลชภายนอกควบคุมแฟลชในระบบ TTL – Auto สามารถปรับแมนนวล แฟลชได้ มีโหมดให้ใช้งานครบถ้วน ตั้งแต่ออโต้แฟลช, เปิดแฟลช, ปิดแฟลช, แฟลชแก้ตาแดง, แฟลชสัมพันธ์ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ, แฟลชสัมพันธ์ม่านชัตเตอร์ชุดที่ 1 และ 2, แมนนวลแฟลชปรับกำลังได้จาก 1/1 – 1/64 ใช้แฟลชภายนอก E-System ที่ใช้กับกล้อง DSLR ได้ รวมทั้งโหมด RC หรือแฟลชไร้สาย


มีระบบกำจัดฝุ่นในตัว

          ทุกครั้งที่เปิดสวิทช์กล้อง ระบบกำจัดฝุ่นในตัวจะทำงานโดยอัตโนมัติ (ทำงานด้วยการสั่นของ Supersonic Wave Filter ที่เงียบมาก) ทุกภาพที่ได้จึงใสสะอาดปราศจากฝุ่น ระบบนี้จะทำงานแบบอัตโนมัติเท่านั้น ไม่สามารถเลือกสั่งงานเองได้ (ในรุ่น E-PL2)


ระบบอื่นๆ

          โหมดบันทึกภาพใน E-PL2 มีครบแบบเดียวกับกล้อง DSLR ทั้งโหมด P, A, S, M


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และภาพสวยๆ จาก :

นิตยสาร FOTOINFO April 2011

Back to top